xs
xsm
sm
md
lg

เสร็จอีก 30 กม.! ขยาย 4 เลน ทล.212 "พะทาย-ท่าอุเทน" จ.นครพนม งบ 1.3 พันล้านบาทเชื่อมมุกดาหารและนครพนมสะดวก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจร ทล.212 ต.พะทาย-อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม กว่า  30 กม. งบ 1.3 พันล้านบาท เสร็จแล้วรองรับจราจรกว่า 8,000 คันต่อวัน เพิ่มความสะดวก เชื่อมมุกดาหารและนครพนม หนุนเศรษฐกิจและการค้าชายแดน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 2 ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 212 สาย อ.บ้านแพง-อ.ท่าอุเทน ตอน ต.พะทาย-อ.ท่าอุเทน จาก 2 ช่องจราจร ให้เป็น 4 ช่องจราจร โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาทางหลวง ตามนโยบายของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และสนับสนุนการพัฒนา ด้านเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งในด้านอุตสาหกรรมการลงทุน การค้าชายแดน การขนส่ง และการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น


ทางหลวงหมายเลข 212 (สายหนองคาย-อุบลราชธานี) เป็นทางหลวงสายรองประธาน มีจุดเริ่มต้นที่ กม.0 อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย มีความสำคัญเป็นเส้นทางเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ และสิ้นสุดที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่ กม.580+375 ระยะทางยาว 580.375 กิโลเมตร ต่อมากรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 212 สาย อ.บ้านแพง-อ.ท่าอุเทน ตอน ต.พะทาย-อ.ท่าอุเทน ระหว่าง กม.255+000 - กม.284+571 ระยะทางยาวประมาณ 30.48 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ อ.บ้านแพง จ.นครพนม เนื่องจากปัจจุบันการจราจรหนาแน่น มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยรายวัน 8,000 คันต่อวัน เป็นรถบรรทุกหนักถึงร้อยละ 26.34 ซึ่งตอนนครพนม-ท่าอุเทน เป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร แบบวิ่งสวน จึงมีความจำเป็นต้องมีการปรับปรุงขยายเส้นทางดังกล่าวเพื่อให้มีความสะดวกปลอดภัย อีกทั้งยังสนับสนุนการเชื่อมโยงกับสะพานข้ามแม่น้ำโขง ที่จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดนครพนม


โดยโครงการดังกล่าวก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ ข้างละ 2 ช่องจราจร) ผิวทางแบบแอสฟัลต์คอนกรีต กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.00 เมตร รวมความกว้าง 10.50 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลาง พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย งบประมาณ 1,392 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมทางหลวงมีเป้าหมายที่จะทำให้สายทางนี้มีขนาด 4 ช่องจราจรต่อเนื่องตลอดสายทางอย่างสมบูรณ์

ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการฯ สนับสนุนด้านการคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของจังหวัดนครพนม ช่วยเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมโยงกับกลุ่มสมาชิกอาเซียน ทั้งในด้านอุตสาหกรรม การลงทุน การค้าชายแดน การขนส่งและการท่องเที่ยว




กำลังโหลดความคิดเห็น