นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกความตกลงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการระหว่างสำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และองค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (United States Trade and Development Agency: USTDA) พร้อมด้วย นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค อัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายจอห์น ไบรเดนสไตน์ อัครราชทูตที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่อาวุโสประจำภูมิภาคอาเซียนฝ่ายพาณิชย์ นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธี โดยมี นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และนายสิทธิศักดิ์ อภิชาติธนพัฒน์ รองผู้จัดการภูมิภาคเอเชีย USTDA ร่วมแลกเปลี่ยนบันทึกความตกลงฯ ดังกล่าว ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ณ หอประชุม ราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบาย และข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งและการแก้ไขปัญหาจราจร ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมียุทธศาสตร์สำคัญในการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนไปสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า ได้แก่ ทางราง ทางน้ำ และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางให้เกิดความคุ้มค่าอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การลดต้นทุนการขนส่งในภาพรวมของประเทศ รวมถึงการสร้างโอกาสทางการแข่งขันของประเทศไทย ในเวทีโลก
สำหรับพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกความตกลงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการที่ได้จัดขึ้นในวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สนข. และ USTDA ภายใต้โครงการ Thailand Integrated Logistics and Intermodal Transport Development Plan มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะในการดำเนินการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบทางรถไฟให้บรรลุเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคมได้กำหนดไว้ทั้งในด้านการลดต้นทุนการขนส่ง การลดมลพิษจากการขนส่งทางถนน เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยส่งเสริมผลักดันนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ของกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น โดยจะมีการพิจารณาระเบียงการขนส่งหลักที่สำคัญของไทย ได้แก่ 1) ท่าเรือแหลมฉบัง - หนองคาย 2) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - นิคมอุตสาหกรรมใน EEC 3) นิคมอุตสาหกรรมใน EEC - ชุมพร/ระนอง และ 4) ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ทั้งนี้ โครงการ Thailand Integrated Logistics and Intermodal Transport Development Plan ประกอบด้วยงาน 6 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การศึกษาทบทวนข้อมูลและประชุมร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2) การศึกษาทบทวนการขนส่งต่อเนื่องในปัจจุบัน ทั้งการขนส่งภายในประเทศและระหว่างประเทศ 3) การคาดการณ์จราจร 4) การจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งและโลจิสติกส์ อย่างบูรณาการและแผนปฏิบัติการ 5) ข้อเสนอโครงการนำร่อง และ 6) การวิเคราะห์รูปแบบการเงิน เศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และจะมีการเสนอแนะพื้นที่โครงการนำร่องอย่างน้อย 3 แห่ง เพื่อพัฒนา เป็นศูนย์บูรณาการโลจิสติกส์และขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในประเทศไทย กระทรวงคมนาคม โดย สนข. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมสนับสนุนการดำเนินการศึกษา และจะนำข้อเสนอแนะจากผลการศึกษา และคำแนะนำจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาปรับใช้ในการส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของไทยให้มีการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากระบบรางที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างเร่งรัดการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง เช่น ท่าเรือบก (Dry Port) ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าและศูนย์การขนส่งชายแดน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า USTDA ได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการผ่านทุนสนับสนุนในรูปแบบเงินให้เปล่า จำนวน 1,360,740 USD. หรือประมาณ 51 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 14 เดือน เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จจะทำให้ประเทศไทยมีแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องอย่างบูรณาการที่ชัดเจน สามารถนำไปดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของกระทรวงคมนาคมในการลดต้นทุนการขนส่ง ลดมลพิษจากการขนส่งทางถนน ส่งเสริมความปลอดภัยจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากทางถนนไปสู่ทางราง อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดประโยชน์สูงสุด และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป