ครม.เคาะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่เพิ่มวงเงินค่าเดินทางเป็น 750 บาท พร้อมขยายสิทธิใช้บริการ 8 ประเภท เพิ่มรถเมล์-บขส.เอกชน รถสองแถวได้ด้วย เริ่ม 1 เม.ย. 66 ตั้งงบกลาง 9,140 ล้านบาท คาดมีผู้ใช้สิทธิเกือบ 4 แสนคน
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบการลงทะเบียนโครงการบัตร สวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลาง วงเงิน 9,140.35 ล้านบาท ให้แก่กองทุนประชารัฐสวัสดิการ เพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม โดยเริ่มจ่ายเงินตามสิทธิวันที่ 1 เมษายน 2566
โดยได้มีการปรับวงเงินค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะจากวงเงิน 500 บาทต่อเดือน เป็น 750 บาทต่อคนต่อเดือน โดยขยายการใช้โดยสารเพิ่มจากเฉพาะระบบขนส่งของรัฐ เป็นสามารถใช้ระบบขนส่งของเอกชนได้ รวม 8 ประเภท ได้แก่ 1. รถ ขสมก. 2. รถ บขส. 3. รถไฟฟ้ามหานคร (MRT), บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด 4. รถไฟ 5. รถเอกชนร่วม ขสมก. รถเอกชน และส่วนราชการ กทม. 6. รถเอกชนร่วม บขส. และรถเอกชน 7. รถสองแถวรับจ้าง และ 8. เรือโดยสารสาธารณะ
โดยไม่จำกัดวงเงินตามประเภทรถ กรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป
คาดว่าจะใช้งบประมาณจำนวน 3,510 ล้านบาทต่อปี โดยใช้เงินจากกองทุนฯ และคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิจำนวน 390,000 คน ซึ่งเป็นการประมาณการจากจำนวนผู้ใช้สิทธิสูงสุดในปัจจุบัน และผู้มีบัตรฯ ที่คาดว่าจะใช้สิทธิเพิ่มขึ้น 20% จากโครงการฯ ปี 2565
สำหรับที่ผ่านมามีผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 10% ของจำนวนผู้มีบัตรฯ ทั้งหมดเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งใช้สิทธิโดยเฉลี่ย 30-90% ของวงเงินสวัสดิการที่ได้รับในแต่ละเดือน ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 วงเงินค่าโดยสารรถ ขสมก.และรถไฟฟ้า มีการใช้จ่ายเงินจากกองทุนฯ ประมาณ 257.20 ล้านบาท วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. มีการใช้จ่ายเงินจากกองทุนฯ ประมาณ 65.79 ล้านบาท และวงเงินค่าโดยสารรถไฟ มีการใช้จ่ายเงินจากกองทุนฯ ประมาณ 154.40 ล้านบาท
การขยายขอบเขตการใช้เดินทางไปยังบริการของเอกชนด้วย เพื่อให้การสนับสนุนการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะให้แก่ผู้มีบัตรฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นการปรับปรุงข้อจำกัดของสวัสดิการปัจจุบัน ได้แก่ เพิ่มประเภทรถโดยสารสาธารณะที่สามารถใช้สวัสดิการ และเพิ่มพื้นที่การใช้บริการ โดยปัจจุบันผู้มีบัตรฯ ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ปี 2560 และปี 2561 นอกเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล จะไม่สามารถใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะใน กทม.ได้ ส่งผลให้มีผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนใน กทม.น้อย แม้ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่สำคัญของ กทม. และการกำหนดวงเงินแยกรายประเภทรถโดยสารส่งผลให้ผู้มีบัตรฯ สูญเสียวงเงินรถโดยสารสาธารณะในส่วนที่ไม่ได้ใช้ไป