หากพูดถึงเสื้อผ้า สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ที่ตอบโจทย์เทรนด์ความต้องการของตลาดโลก ที่ให้ความสำคัญต่อกระแสการดูแลและปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม และการให้ความสำคัญต่อขยะเหลือศูนย์ หรือ Zero Waste มีสินค้ารายการหนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์ได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้เข้ามาอยู่ในโครงการ Local+ ที่จะมองข้ามไม่ได้อีกสินค้าหนึ่ง ก็คือ แบรนด์ “มัดมอวาลู - Mud more value” ซึ่งเป็นสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถตอบโจทย์เทรนด์ของโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
“มัดมอวาลู” เป็นสินค้าที่ดึงเอาเอกลักษณ์ของจังหวัดสระบุรี คือ ฟาร์มโคนมออร์แกนิก โดยผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้า “ผ้ามัดย้อมมูลวัว” เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่ามูลวัวนม ซึ่งเข้ากับเทรนด์ของโลกที่ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น และยังตอบรับกับเทรนด์ Zero Waste เนื่องจากผ้ามัดย้อมจากมูลวัวนมนั้นเป็นการนำของเสียกลับมาแปรรูปให้เกิดมูลค่า
วรรณภา กิติโสภากุล เจ้าของแบรนด์มัดมอวาลู กล่าวถึงที่มาที่ไปของการทำผ้ามัดย้อมจากมูลวัวว่า เป็นคนที่ชอบงานคราฟต์ ชอบงานประดิษฐ์ และวันหนึ่งตัดสินใจที่จะทำธุรกิจเป็นของตัวเอง เลยมองหาสินค้าที่สามารถสะท้อนภาพลักษณ์ของจังหวัดสระบุรี และสนใจที่งานผ้า ก็เลยเริ่มที่เสื้อผ้า เอาผ้าทอในสระบุรีมาทำ แต่กลับมีกลิ่นอายของภาคเหนืออยู่ เพราะคนทอมาจากภาคเหนือ ก็เลยมาคิดว่าจะทำอะไรต่อดี จึงเริ่มทำวิจัย และเห็นว่ามูลวัวสามารถเอามาทำน้ำย้อมผ้าได้ ก็เลยใช้มูลวัวที่ได้จากฟาร์มโคนมออร์แกนิกมาทำ ทดลองอยู่เป็นปี จึงได้น้ำย้อมผ้าออกมา จากนั้นได้พัฒนาต่อนำไปย้อมทำเป็นผ้าต่างๆ
จากไอเดียรักงานคราฟต์ ผสมกับการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม และการลดขยะเหลือทิ้ง จึงเกิดเป็นน้ำย้อมผ้าจากมูลวัว ซึ่งสะท้อนเอกลักษณ์ของจังหวัดสระบุรีที่เป็นแหล่งผลิตน้ำนมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นที่มาของแบรนด์มัดมอวาลู โดยชื่อแบรนด์มาจากการผสมคำ คือ “มัด” มาจากมัดย้อม “มอ” เสียงของวัว “วาลู” คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่หมายถึงคุณค่า แล้วนำคำทั้งหมดมารวมกัน คือ Mud More Value เป็นคำที่ตั้งใจให้มองเห็นที่มาของสินค้า และการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าชุมชน
ทั้งนี้ การทำสินค้าในช่วงแรกๆ ต้องต่อสู้กับคำสบประมาท หลายคนไม่เข้าใจว่าเอาของไม่สะอาด ซึ่งก็คือ มูลวัวมาทำลายเสื้อผ้า จะมีใครซื้อ แต่ด้วยความตั้งใจ และมุ่งมั่นผลิตสินค้าที่สะท้อนอัตลักษณ์ของจังหวัดสระบุรี ก็เดินหน้าต่อ เพราะรู้สึกสนุก ทั้งตอนย้อม และตอนแกะผ้าออกมาว่าจะได้ลายที่สวยถูกใจไหม จนในที่สุดสินค้าก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งจากชาวไทย และต่างประเทศ
ที่สำคัญ ต้องขอขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือ แนะนำ ให้ความรู้ ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด ทั้งการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ และเปิดโอกาสให้นำเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ เช่น การเปิดบูทจำหน่ายที่กระทรวงพาณิชย์ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า รวมถึงการได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 “สุดยอด Thailand e-Commerce Genius แห่งปี 2021” จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจกับน้ำพักน้ำแรงที่ได้ลงทุนลงแรงไป โดยคาดหวังว่ากระทรวงพาณิชย์จะให้การช่วยเหลือ และสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชน และสินค้าชุมชนต่อไป โดยเฉพาะล่าสุดที่มีการจัดทำโครงการ Local+ ที่ตามค้นหาสินค้า BCG สินค้าอัตลักษณ์ และสินค้านวัตกรรม เพื่อส่งเสริมช่องทางการตลาด เห็นว่าเป็นโครงการที่ดี และเชื่อว่าจะส่งเสริมและสร้างโอกาสให้แก่สินค้าชุมชนได้อีกมาก