กรมการค้าต่างประเทศออกประกาศฉบับใหม่ รองรับการปรับพิกัดศุลกากรจากระบบฮาร์โมไนซ์ 2002 เป็น HS 2017 สำหรับกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายการสินค้าในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมเตรียมระบบการตรวจคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิด และระบบการออกหนังสือรับรอง Form AJ เรียบร้อยแล้ว มีผลบังคับตั้งแต่ 1 มี.ค.นี้
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศฉบับใหม่ รองรับการปรับพิกัดศุลกากรจากระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonize System: HS) 2002 เป็น HS 2017 สำหรับกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น (Certificate of Origin - Form AJ) โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2566 รวมทั้งได้จัดเตรียมระบบการตรวจคุณสมบัติทางด้านถิ่นกำเนิด และระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form AJ) เรียบร้อยแล้ว พร้อมให้ผู้ส่งออกใช้งานได้ในวันที่ 1 มี.ค. 2566 เช่นเดียวกัน
“การปรับกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่นมีผลใช้บังคับในปี 2551 โดยกรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าร่วมเจรจาปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าจาก HS 2002 เป็น HS 2017 ร่วมกับประเทศภาคีสมาชิกอาเซียน-ญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นการเจรจาเพื่อให้กฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงของพิกัดศุลกากรได้คงไว้ซึ่งสิทธิตามหลักเกณฑ์เดิมและสะท้อนกับกระบวนการผลิตที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด จนประเทศสมาชิกได้สรุปผลลัพธ์การเจรจาในช่วงปลายปี 2565”
นายรณรงค์กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ซึ่งปัจจุบันไทยและญี่ปุ่นมีความตกลงทางการค้าที่บังคับใช้ร่วมกันทั้งสิ้น 3 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า คือ เรื่องของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของแต่ละความตกลง สำหรับการนำไปใช้สิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีนำเข้า ณ ประเทศปลายทาง
ในปี 2565 มีผู้ส่งออกยื่นขอออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form AJ เพื่อนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีภายใต้ความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น คิดเป็นมูลค่า 392.69 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.08% (ปี 2564 มูลค่า 353.53 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยมีรายการสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ 5 อันดับแรก ได้แก่ แผ่นแถบทำด้วยอะลูมิเนียมเจือ กุ้งปรุงแต่ง ปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง และกางเกงชั้นในชนิดบรีฟและกางเกงชั้นในของสตรีหรือเด็กหญิง ทำด้วยเส้นใยประดิษฐ์ ถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์
สำหรับหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศ ไม่เพียงแต่เข้าร่วมการเจรจาเกี่ยวกับกฎถิ่นกำเนิดและการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเท่านั้น แต่เมื่อความตกลง FTA ต่างๆ มีผลบังคับใช้แล้ว กรมฯ ได้ติดตามการใช้สิทธิประโยชน์ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกฎถิ่นกำเนิดและรูปแบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้สอดคล้องกับการค้าในปัจจุบัน และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการไทยให้ได้มากที่สุด รวมถึงส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ต่างๆ ผ่านการจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย (SMEs) สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้ โดยผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ โทร. 1385 หรือไลน์แอปพลิเคชันชื่อบัญชี “@gsp_helper”