“พาณิชย์”เคาะส่วนต่างประกันรายได้ข้าว งวดที่ 16 จ่ายชดเชยแค่ “ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่” ส่วนอีก 4 ชนิดไม่ต้องจ่าย เหตุข้าวเปลือกหอมมะลิ สิ้นสุดฤดูกาล ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ราคาทะลุเพดานประกัน เผยตลาดต้องการข้าวข้าว โดยเฉพาะอิรัก ทำราคาขึ้น และมีการแย่งซื้อข้าวหอมปทุมธานี
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 งวดที่ 16 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 21-27 ม.ค.2566 โดยมีการจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพียง 1 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่ต้องจ่าย เพราะสิ้นสุดฤดูเก็บข้าว ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ไม่ต้องจ่าย เพราะราคาสูงกว่าเป้าหมาย
โดยข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13,656.68 บาท ชดเชยตันละ 343.32 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 5,493.12 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 11,177.49 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 10,081.45 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 10,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 12,553.52 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 12,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีการคำนวณส่วนต่าง เพราะสิ้นสุดฤดูกาล
ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 3 วันทำการ หรือภายในวันที่ 1 ก.พ.2566 โดยมีเกษตรกรได้รับชดเชยตามข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรงวดนี้ จำนวน 1,895 ครัวเรือน
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยให้ข้อมูลว่า ยังมีความต้องการข้าวขาวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประเทศอิรัก ส่งผลให้ราคาข้าวขาวปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงข้าวหอมปทุมธานีที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการแทนข้าวหอมมะลิที่ราคาส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สมาคมฯ คาดการณ์การส่งออกในปี 2566 โดยตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่ 7.5 ล้านตัน แต่ต้องคงรอดูสถานการณ์การปรับตัวของค่าเงินบาท ซึ่งขณะนี้ยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างในงวดที่ 1-15 ที่ผ่านมา จ่ายส่วนต่างแล้ว จำนวน 2.59 ล้านครัวเรือน วงเงิน 7,844.16 ล้านบาท และในส่วนของการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ไร่ละพันบาท) ธ.ก.ส. ได้โอนเงินให้เข้าบัญชีเกษตรกรแล้วกว่า 4.61 ล้านครัวเรือน
“กรมฯ จะเพิ่มการติดตามดูแลการซื้อขายข้าวเปลือก ทั้งในเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้น ซึ่งหากพบเห็นว่าท่าข้าวหรือโรงสีใด ไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ กดราคารับซื้อ โกงน้ำหนัก หรือมีพฤติกรรมใด ๆ ที่เป็นการเอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569 จะเข้าไปตรวจสอบ และดำเนินการเด็ดขาด”นายอุดมกล่าว