xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เตือนค่าไฟแพงฉุด FDI-ขีดแข่งขันประเทศลดถาวร ชู 4 กลุ่มอุตฯ ขับเคลื่อน ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.อ.ท.” ส่งสัญญาณภาครัฐ "ค่าไฟฟ้า" ที่แพงหูดับกำลังเป็นอุปสรรคฉุดรั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เมินไทยและอาจซบเวียดนามมากยิ่งขึ้น หลังล่าสุดเวียดนามลดค่าไฟตอกหน้าแนะให้เร่งแก้ก่อนไทยจะสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันแบบถาวร เร่งดัน 4 กลุ่มอุตฯ หลักขับเคลื่อนศก.ไทยฝ่ายุค BANI World

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
กล่าวในงานสัมมนา "Thailand: New Episode บทใหม่ประเทศไทย 2023" หัวข้อ New Episode เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ว่า ปี 2566 New Economy ที่จะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยคือ 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ 1. อุตสาหกรรม BCG (Bio Circular Green) 2.ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 3.Smart Elegtronic และ 4. Digital ที่ ส.อ.ท.ผลักดันร่วมกับรัฐที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นคืนมาและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะที่ขณะนี้โลกได้ก้าวสู่ยุค BANI World หรือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจาก B : Britten ความเปราะบางจากเศรษฐกิจโลกที่อาจถดถอย (Recession) A : Anxious ความกังวลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) N : Nonlinear ความเข้าใจยากจากภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไปทั้งสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และ I : Incomprehensible ความไม่เข้าใจจากปัญหา Disruption

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไทยได้สูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันจากหลายปัจจัย และปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ปรับขึ้นต่อเนื่องและงวด ม.ค.-เม.ย. 66 สำหรับประเภทธุรกิจ อุตสาหกรรมที่ปรับมาอยู่เฉลี่ย 5.33 บาทต่อหน่วยกลายเป็นต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และยังเป็นอุปสรรคต่อการดึงการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ส่งผลให้เวียดนามยิ่งมีแต้มต่อมากขึ้นไปอีกจากความได้เปรียบในแง่ FTA ที่เซ็นมากกว่าไทย ค่าแรงที่ต่ำอยู่แล้ว โดยปีที่ผ่านมาเวียดนามมีค่าไฟเพียง 2.88 บาทต่อหน่วยและจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่า32-33บาทต่อหน่วยนำมาคำนวณใหม่ส่งผลให้ค่าไฟถูกเป็น 2.50 บาทต่อหน่วยซึ่งสวนทางกับไทย หากไทยยังคงมีค่าไฟที่แพง FDI ที่ไหนจะมาไทย จึงอยากฝากให้คนรับผิดชอบทุกคนเพราะหากไม่เร่งแก้ไขอาจจะทำให้ไทยเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันแบบถาวร


นายเกรียไกรกล่าวว่า โลกได้ก้าวจากยุค VUCA World (ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความสลับซับซ้อน และความคลุมเครือ) ที่ถูกดิสรัปชันมาสู่ BANI World หรือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจาก B : Britten ความเปราะบางจากเศรษฐกิจโลกที่อาจถดถอย (Recession) A :  Anxious ความกังวลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) N : Nonlinear ความเข้าใจยากจากภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไปทั้งสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และ I :  Incomprehensible ความไม่เข้าใจจากปัญหา Disruption ไทยซึ่งมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการส่งออกและท่องเที่ยวที่อาศัยตลาดต่างประเทศจึงย่อมได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังคงมีโอกาสจาก New Economy และในสเต็ปถัดไป New Episode ของไทย แม้จะต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูง ส่งออกชะลอตัว ดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ภาคการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ค. 2566 นี้ ซึ่งจะเป็นตัวที่ช่วยให้เงินในระบบไหลเวียนลงสู่ฐานรากได้อย่างมาก

“ส่งออกปีนี้เราอาจเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็ยังคงมีเป้าหมายในการคุมเงินเฟ้อต่อไปอีกในปีนี้ แต่จีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่คิดไว้อาจจะทำให้เศรษฐกิจจีนปีนี้โตมากขึ้นที่จะส่งผลดีทั้งการส่งออกและท่องเที่ยวไทย แต่จีนเองมีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นมากอาจทำให้นักท่องเที่ยวครึ่งปีแรกคงยังออกมาไม่เต็มที่ คงต้องดูหลัง 6 เดือนผ่านไปที่จีนจะใช้โมเดลการแก้โควิดแบบอินเดียที่เป็นภูมิคุ้มกันหมู่ซึ่งน่าจะเห็นภาพชัดขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น