เศรษฐกิจฐานรากถือเป็นรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ เกี่ยวข้องกับเกษตรกร ชาวบ้าน ผู้ประกอบการรายจิ๋ว รายย่อย รายเล็ก รายกลาง หากคนเหล่านี้มีความเข้มแข็ง ก็จะยิ่งช่วยให้เศรษฐกิจของไทยเข้มแข็งและเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ จึงได้กำหนดนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ผ่านการจัดทำโครงการ Local+ ที่จะถูกนำมาใช้เป็นกลไกในการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างความเข้มแข็งให้ฐานรากของประเทศ
ที่มาของการจัดทำโครงการดังกล่าว เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้เห็นถึงกระแสการบริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารแบบเดิมที่พึ่งพาการใช้สารเคมีค่อนข้างมาก ทำให้เกิดกระแสรักสุขภาพ และความใส่ใจของผู้บริโภคต่อจากความตระหนักถึงผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ส่งผลต่อการเลือกซื้อสินค้า โดยคำนึงถึงสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ส่งผลต่อความต้องการสินค้าเฉพาะกลุ่มเหล่านี้ขยายตัวมากทั้งภายใน และต่างประเทศ
นอกจากนี้ ในช่วงการจัดงานประชุมผู้นำเอเปกในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสมาชิกเอเปก และทุกภาคส่วน ทำให้การเติบโตของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
“ปลัดพาณิชย์”สั่งลุยโครงการ Local+
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานระดับกรมฯ ของกระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติแล้ว โดยมีโครงการสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG กันมากขึ้น แต่อาจจะยังไม่ครอบคลุมถึงหน่วยงานในระดับภูมิภาค จึงได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัด ในฐานะเซลส์แมนในระดับจังหวัด ให้ความสำคัญต่อการคัดเลือกและสนับสนุนสินค้าที่น่าสนใจเป็นสินค้าศักยภาพ (Local+) หรือเรียกสั้นๆ ว่าโครงการ Local+ ซึ่งโครงการนี้ยังเป็นการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
“เป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ คือ ให้ช่วยกันค้นหาสินค้าที่มีศักยภาพที่อยู่ในท้องถิ่นทุกจังหวัดทั่วประเทศ แล้วเข้าไปช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดและช่องทางการจำหน่าย เน้นสร้างการมีส่วนร่วมของเซลส์แมนจังหวัดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ผลักดันการใช้ Soft Power เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง” นายกีรติกล่าว
สินค้า Local+ คืออะไร
สำหรับสินค้า Local+ คือสินค้าชุมชน ที่เป็นได้มากกว่าสินค้าชุมชน เพราะเพิ่ม (Plus) คุณค่าด้วยดีไซน์ คุณสมบัติ เรื่องราว ให้คุณลักษณะ คุณสมบัติพิเศษ ให้คุณค่าต่อจิตใจ ซื้อเพราะอินกับเรื่องราวของสิ่งที่ซื้อ ซื้อเพราะตรงกับความเชื่อของตัวเอง เช่น มีใจรักสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก หรืออยากสืบทอดวัฒนธรรมให้คงอยู่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ รักษาไว้ด้วยการพัฒนา
เน้นสินค้าศักยภาพ 3 กลุ่ม
ในการตามค้นหาสินค้าภายใต้โครงการ Local+ นายกีรติบอกว่า กระทรวงพาณิชย์จะให้ความสำคัญในการคัดเลือกสินค้าหลักๆ จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ 1. กลุ่ม BCG ที่มุ่งเน้นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สินค้าออร์แกนิก ที่ลดการใช้ยา สารเคมี หรือสินค้าที่มีการเอาของเหลือใช้มาพัฒนาเป็นของที่มีประโยชน์
2. กลุ่มสินค้าอัตลักษณ์ ที่ต้องการรักษาภูมิปัญญา รักษาไว้ซึ่งความเฉพาะถิ่น โดยจะพัฒนาให้ร่วมสมัย รักษาภูมิปัญญา แต่พัฒนาต่อยอดให้ขายได้ เรียนรู้กระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรม สังคมให้คงอยู่
3. กลุ่มสินค้านวัตกรรม ที่ต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขันให้สินค้าชุมชน โดยจะช่วยพัฒนาสินค้าให้น่าสนใจ มีการใช้นวัตกรรม และมีคุณค่ามากกว่าเดิม
ใช้คอนเซ็ปต์ 4S ช่วยพัฒนา
สำหรับการพัฒนาสินค้าในกลุ่ม Local+ มีหลักว่า สินค้าต้องเก๋ สินค้าต้องดี สินค้าต้องเพิ่มคุณค่า ด้วย 4S คือ
1. Style ตอบโจทย์ เห็นปุ๊บซื้อปั๊บ พื้นฐาน เริ่มต้นด้วยความเตะตา
2. Story เรื่องราวที่เข้าถึง ตอบโจทย์ ซื้อเพราะเชื่อในเรื่องนี้ ซื้อเพราะความต้องใจ
3. Sustainable & Save the earth
4. Signature มีอัตลักษณ์ มีความเฉพาะตัว กลับมาซื้อซ้ำ เพราะหาที่อื่นที่ไหนไม่ได้
จากคอนเซ็ปต์ดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จึงได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัด ในฐานะเซลส์แมนจังหวัด ที่ประจำอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ไปลงพื้นที่ ทำการคัดของดี ของเด็ด สินค้าที่มีศักยภาพ ทั้งกลุ่ม BCG กลุ่มสินค้าอัตลักษณ์ และกลุ่มที่มีนวัตกรรม เพื่อทำเป็นฐานข้อมูลสินค้า Local+ แล้วเข้าไปช่วยส่งเสริม ทั้งด้านการผลิต การพัฒนาตัวสินค้า ดีไซน์ สร้างเรื่องราว เพื่อให้มีคุณลักษณะพิเศษ มีคุณค่าต่อจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการรักสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก การช่วยสืบทอดวัฒนธรรม เพื่อช่วยผู้บริโภครู้จักสินค้า Local+ สามารถขยายตลาด รวมทั้งเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้มากยิ่งขึ้น
เปิด 5 กลยุทธ์ขับเคลื่อน Local+
นายกีรติกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมดำเนินแผนงานส่งเสริมการตลาดสินค้า Local+ โดยจะทำหน้าที่บอกต่อเรื่องราวและการส่งต่อสินค้าที่ได้คัดมาแล้วให้ถึงผู้บริโภคชาวไทยและต่างประเทศ ผ่านกลไกเซลส์แมนจังหวัด และทูตพาณิชย์ ซึ่งเป็นเซลส์แมนประเทศ โดยมีกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาสินค้า Local+ กำหนดไว้ทั้งสิ้น 5 กลยุทธ์ ได้แก่
1. การสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการตลาดสินค้า โดยจะอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้บริโภค ให้มีความรู้ความเข้าใจถึงคุณประโยชน์ของสินค้า Local+ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค โดยเน้นการทำความเข้าใจให้ความรู้กับพาณิชย์จังหวัด เพื่อเป็นเครือข่ายในการคัดเลือก ส่งเสริม พัฒนา โดยมีเป้าหมายครอบคลุมผู้ประกอบการทั่วประเทศ และการจัดสัมมนาวิชาการ Local Plus Symposium เพื่อพัฒนาและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า และนักวิชาการ
2. การพัฒนาฐานข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการวางแผนการตลาดเชิงรุกให้กับสินค้า Local+ โดยจะดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการสินค้า Local+ ในรูปแบบ 2 ภาษา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพส่งออกให้สามารถขยายตลาดในต่างประเทศได้
3. การขยายตลาดสินค้า Local+ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีแผนที่จะผลักดันผู้ผลิตและผู้ประกอบการให้มีโอกาสเข้าถึงตลาดการค้ามากขึ้น โดยวางรูปแบบการพัฒนาใน 3 รูปแบบ แบ่งเป็น ในภูมิภาค ในประเทศ และในต่างประเทศ
โดยในระดับภูมิภาค จะเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาด การช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า Local+ ของจังหวัดให้เป็นที่รู้จัก โดยกำหนดจัดงานแสดงสินค้าในระดับภูมิภาคทั้ง 4 ภาค ช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 2566
ในประเทศ กำหนดจัดงานแสดงสินค้า เจรจาธุรกิจ และสัมมนาวิชาการ Thailand International Local Plus Expo 2023 (TILP Expo 2023) ช่วงเดือน มิ.ย. 2566 เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาให้ความนิยมสินค้า Local+ มากขึ้น
ในต่างประเทศ มีแผนขยายตลาดในภูมิภาคสู่การค้าสากล โดยเริ่มจากการให้ความรู้เกี่ยวกับตลาด มาตรการ มาตรฐาน ตลาดเป้าหมาย พัฒนาผู้ประกอบการ ส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้า Local+ ไทยในตลาดโลก โดยบูรณาการความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในการจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) เชื่อมโยงผู้ซื้อกับต่างประเทศในช่วงจัดงาน TILP Expo 2023 และมีแผนจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าธรรมชาติ สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งาน Craft ในระดับนานาชาติ เช่น งาน Biofach, Natural Product Expo West การสร้างพันธมิตรธุรกิจ เพื่อขยายช่องทางการค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก เป็นต้น
4. การสร้างความหลากหลายของสินค้า Local+ ให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยจะช่วยพัฒนาสินค้าตัวใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาด โดยจะคัดเลือกสินค้าชุมชนที่มีศักยภาพ สามารถต่อยอดในการเข้าสู่โครงการ Local+ มีทีมงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ระดับตำบล เพื่อคัดเลือกสินค้าชุมชนมาพัฒนาให้เข้าสู่ตลาดในระดับที่สูงขึ้น
5. การสนับสนุนเชิงนโยบาย โดยหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกันพิจารณามาตรการสนับสนุน Local+ ในระดับนโยบาย เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการช่วยเหลือ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ เช่น การจัดงาน TILP Expo 2023 มีแผนที่จะเชิญหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์มาร่วมงาน เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา กับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) แบบพรีเมียม ที่เป็นอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กับร้านอาหารไทยซีเลกต์ แบบ Signature หรือ Unique ที่สะท้อน Soft Power ของอาหารไทยและอาหารประจำท้องถิ่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับโปรเจกต์ BCG Hero ที่บ่มเพาะผู้ประกอบการ BCG ตัวท็อปมาร่วมในงาน รวมถึงการเชื่อมโยงตลาดในประเทศและต่างประเทศ ผ่านการดำเนินการของเซลส์แมนจังหวัดและเซลส์แมนประเทศ
สร้างงาน สร้างเงิน สร้างความเข้มแข็งฐานราก
ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ โดยพาณิชย์จังหวัด ในฐานะเซลส์แมนประเทศ กำลังอยู่ระหว่างการตามหา ค้นหา สินค้า Local+ ที่อยู่ใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่ม BCG อัตลักษณ์ และนวัตกรรม ซึ่งขณะนี้ได้มีการคัดเลือกและส่งรายชื่อเข้ามายังส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง และถัดไปจะเป็นการเข้าไปช่วยเหลือ ช่วยพัฒนาสินค้า พัฒนาช่องทางการตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศตามแผนการที่วางไว้ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การช่วยสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศ