xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.ชี้ยอดขายปีนี้ทำนิวไฮต่อเนื่อง ติดตั้งแท่นเพิ่ม "เอราวัณ" เร่งผลิตก๊าซฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.สผ.ปลื้มปี 65 ยอดขายปิโตรเลียมทุบสถิติสูงสุดที่ 4.68 แสนบาร์เรลต่อวัน ลุ้นปีนี้ทำนิวไฮต่อเนื่อง พร้อมเร่งติดตั้งแท่นเพิ่มในแหล่งเอราวัณ ดันกำลังผลิตก๊าซฯ ขยับขึ้นเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปลายปีนี้ และจะผลิตได้ตามสัญญา PSC ในเดือน เม.ย. 67

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือปตท.สผ. เปิดเผยว่า ในปี 2565 ปตท.สผ.มียอดขายปิโตรเลียมสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 4.68 แสนบาร์เรลต่อวัน และมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมรวม 5.8 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาจากโครงการในต่างประเทศโดยเฉพาะโครงการโอมานแปลง 6 และประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ปีนี้ ปตท.สผ.ตั้งเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมอยู่ที่ 4.7 แสนบาร์เรลต่อวัน แต่ก็มีโอกาสที่ปริมาณการขายจะปรับเพิ่มขึ้นอีก มาจากการเข้าลงทุนในโครงการใหม่เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้มีการเจรจา M&A หลายโครงการ

ส่วนปริมาณการผลิตในแปลง G1/61 (เอราวัณ) ในปีนี้จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทเตรียมติดตั้งแท่นผลิตเพิ่มอีก 4 แท่น หลังจากที่ปี 2565 ได้ติดตั้งไปแล้ว 8 แท่น ส่งผลให้คาดว่าปริมาณการผลิตในแปลง G1/61 จะเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2565 เป็น 400-450 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงกลางปีนี้ และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปลายปี 2566 หลังจากนั้นจะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญา PSC ในเดือนเมษายน 2567

ส่วนแปลง G2/61 (บงกช) ขณะนี้สามารถผลิตได้มากกว่าสัญญา PSC ซึ่งกำหนดไว้ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยปัจจุบันผลิตอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่แหล่งอาทิตย์ จากเดิมผลิตอยู่ที่ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มเป็น 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้งโครงการพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) เพื่อชดเชยปริมาณก๊าซฯ ในช่วงที่แปลง G1/61 ยังไม่สามารถผลิตได้ตามสัญญา ประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพง อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ.เตรียมงบลงทุนสำหรับแปลง G1/61 และ G2/61 ไว้ที่ประมาณ 700-800 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

นอกจากนี้ ปตท.สผ.ได้รับแรงกดดันในการเข้าลงทุนแหล่งก๊าซฯ ในเมียนมาซึ่งมีความสำคัญด้านความมั่นคงพลังงานทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันมี 2 แปลง ได้แก่ ยาดานา และซอติก้า คิดเป็นสัดส่วน 17% ของปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯ ทั้งหมดในประเทศไทย และคิดเป็น 50% ของปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯ ทั้งหมดในเมียนมา

นายมนตรีกล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะเร่งการพัฒนาโครงการที่มีอยู่ ได้แก่ แหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการซาราวัก เอสเค 410 บี นอกชายฝั่งประเทศมาเลเซีย หลังจากล่าสุดบริษัท พีทีทีอีพี เอชเค ออฟชอร์ จำกัด (พีทีทีอีพี เอชเคโอ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ได้ขุดเจาะหลุมประเมินผล ลัง เลอบาห์-2 (Lang Lebah-2) เสร็จสิ้นไปเมื่อกลางเดือนมกราคม 2564 ที่ระดับความลึก 4,320 เมตร และค้นพบชั้นหินที่มีก๊าซฯ หนาสุทธิถึง 600 เมตร ชี้ให้เห็นว่าแหล่งกักเก็บดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่าที่ได้เคยคาดการณ์ไว้ คาดว่าจะเริ่มผลิตก๊าซฯ ออกมาได้ภายในปี 2570 ตั้งเป้าผลิตรวม 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยจะป้อนเข้าโรงงาน LNG ในมาเลเซียทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังเร่งผลักดันโครงการที่มีในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการ Oman Block 61 ในประเทศโอมาน, โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคช ในประเทศแอลจีเรีย ซึ่งเริ่มผลิตก๊าซฯแหล่งที่ 2 แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น