xs
xsm
sm
md
lg

AMATA ตั้งเป้ายอดขายนิคมฯ ปี 66 โต 10% ส่งสัญญาณต่างชาติย้ายฐานมาไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อมตะ” มั่นใจปี 2566 ยอดขายพื้นที่ในนิคมฯ โต 10% จากปีก่อนหลังพบสัญญาณการลงทุนจากต่างชาติทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ใช้ไทยเป็นฐานผลิตพุ่งสูง ชี้ ศก.โลกถดถอยกระทบระยะสั้น พร้อมปักธงเดินหน้าพลังงานทดแทนเพิ่มขับเคลื่อน Net Zero Emission ลดโลกร้อน
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า แนวโน้มการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมปี 2566 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 10% หลังเห็นสัญญาณการกลับมาของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะการพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ที่นักลงทุนเริ่มใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) อาจจะกระทบการลงทุนแต่เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่การลงทุนภาคการผลิตเป็นการลงทุนที่มองระยะยาว
“บริษัทเห็นการกลับมาของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตจักรยานยนต์ การพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักลงทุนที่จะเข้ามาทั้งนิคมอมตะซิตี้ ระยอง และนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยเฉพาะกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์นักลงทุนเริ่มใช้ประเทศไทยเป็นฐานมากขึ้น ซึ่งนิคมอมตะฯ มีระบบสาธารณูปโภคเพียงพอเพื่อการรองรับ โดยเฉพาะไฟฟ้า ซึ่งบริษัทมีโรงไฟฟ้าเป็นของตัวเอง รวมถึงการพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน” นายวิบูลย์กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทมียอดขายที่ดินในประเทศไทยเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อยู่ 700 ไร่ โดยเฉพาะนิคมฯ ที่ จ.ชลบุรี ที่พบว่ามีการขายที่ดินดีมาก เนื่องจากนิคมฯ ของอมตะเป็นพื้นที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนในพื้นที่นิคมฯ ถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวม

สำหรับการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในส่วนของ AMATA ได้วางแผนการบริหารตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่มีความจำเป็นออกไป เพิ่มรายได้ประจำ (Recurring Income) เช่น ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ค่าเช่าอาคารโรงงานสำเร็จรูป ฯลฯ ซึ่งบริษัทมีรายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นในระดับ 50% และหวังว่าจะมีสัดส่วนรายได้จาก recurring income เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต 

นายวิบูลย์กล่าวว่า ในปี 2566 ธุรกิจสาธารณูปโภค น้ำ และไฟฟ้า มีการเติบโตต่อเนื่อง มาจากการลงทุนใหม่ และฐานการผลิตเดิม ทั้งนี้ การลงทุนใหม่ต้องพิจารณาจากปัจจัยบวกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ได้แก่ การเปิดประเทศของจีน ซึ่งไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน มีสิทธิประโยชน์ที่ดี โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้มีการปรับสิทธิประโยชน์ของประเทศไทยให้ดีขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยเองยังเลือกอุตสาหกรรมที่มีอนาคต มีการพัฒนาพลังงานทดแทนเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคการผลิต

“การพัฒนาโครงการใหม่ๆ ประเภทพลังงานทดแทน เป็นเรื่องที่เรามองข้ามไม่ได้ ซึ่งอมตะให้ความสำคัญต่อตรงนี้ เพราะทิศทางของโลกมีความต้องการใช้พลังงานทดแทนเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องทำหน้าที่ ในการมุ่งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า Net Zero Emission โดยเร็วที่สุด ซึ่งอมตะได้พัฒนาธุรกิจที่สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG model (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม (ESG) ถือเป็นหัวใจสำคัญ” นายวิบูลย์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น