"ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้" กางแผนปี 66 ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปีก่อน หนุนผลงานทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง ผู้บริหารเผยเน้นกลยุทธ์คุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพดันมาร์จิ้นเพิ่ม รุกขยายตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สัญญาณดี ส่วนโรงงานอินเดีย รับรู้รายได้เต็มพิกัด เดินหน้าติดตั้งเครื่องฉีดในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนกันชนเพิ่มอีก 4 หมื่นชิ้น หนุนกำลังผลิตแตะ 2 แสนชิ้นต่อเดือน รับออเดอร์ไหลเข้าล้นมือ หนุนยอดขายโตแรง
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI เปิดเผยว่าแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเติบโตรายได้ที่ระดับ 10% จากงวดเดียวกันปีก่อน และคาดว่าจะยังคงทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ต่อเนื่อง โดยยังคงเน้นกลยุทธ์การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยผลักดันให้มาร์จิ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ รวมทั้งมีแผนรุกขยายไปในตลาดต่างเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจและมีโอกาสเติบโตได้ดี
"ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 2566 ยังน่าจะมีทิศทางที่ดีต่อเนื่องจากปีก่อน โดยจะเน้นกลยุทธ์ควบคุมต้นทุนทั้งทางการด้านค่าขนส่ง พลังงาน และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาประสิทธิภาพการทำกำไรในระดับที่ดีได้ ขณะเดียวกัน การเปิดตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนส่งสินค้าไปทดสอบกับลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปของคำสั่งซื้อประมาณไตรมาส 1/2566 และบริษัทฯ คาดว่าหากประสบความสำเร็จจะใช้เม็ดเงินลงทุนในครั้งนี้ราว 100 ล้านบาท ขณะที่โรงงานในอินเดียยังคงเดินหน้าผลิตได้เต็มที่ โดยในปีนี้ บริษัทฯ จะสามารถรับรู้ได้ทั้งหมด ดังนั้นจะช่วยสนับสนุนให้รายได้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้" นายสมพล กล่าว
สำหรับแผนการติดตั้งเครื่องจักรเพิ่ม บริษัทฯ มีแผนจะติดตั้งเครื่องฉีดใหม่เพิ่มอีก 5 เครื่อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้ง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนมกราคม สำหรับการลงทุนในครั้งนี้จะได้สิทธิประโยชน์ภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นระยะเวลา 5 ปี และจะทำให้บริษัทมีความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนในส่วนของกันชนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 40,000 ชิ้น โดยจะทำให้มีกำลังการผลิตรวมถึง 200,000 ชิ้นต่อเดือน ช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยได้กว่า 10%
นอกจากนี้ การร่วมกับพันธมิตรลงทุนในประเทศอียิปต์นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา และมีความคืบหน้าไปมากแล้ว ซึ่งการตัดสินใจไปลงทุนสร้างโรงงาน และคลังสินค้าดังกล่าว บริษัทฯ ประเมินว่าจะช่วยสนับสนุนให้ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านค่าขนส่ง และภาษีนำเข้าได้เป็นอย่างดี และช่วยดันมาร์จิ้นให้เพิ่มขึ้นในส่วนของตลาดโซนแอฟริกาเหนือได้ไม่ต่ำกว่า 15%