เร่งแก้รถไฟ "ไทย-จีน" อืด ชงบอร์ด 26 ม.ค.สั่งจ้างสัญญา 4-5 ลุยสร้างทางวิ่งช่วงรอ HIA สถานีอยุธยา เผย 10 ม.ค.ศาลปค.สูงสุดนัดชี้ขาดสัญญา 3-1 และจ่อปรับแบบยกระดับช่วงโคราชสัญญา 3-5 หลังชาวบ้านต้านคันดิน จบปี 65 โยธาคืบ 16.72%
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท ว่า การก่อสร้างงานโยธา 14 สัญญา วันที่ 31 ธ.ค. 2565 มีความคืบหน้ารวม 16.72% เทียบกับช่วงต้นปี 2565 ที่คืบหน้าเพียง 4% ถือว่าปี 2565 การก่อสร้างมีความก้าวหน้ามากขึ้นโดยเสร็จแล้ว 1 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. อยู่ระหว่างเร่งรัดก่อสร้าง 10 สัญญา และยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง 3 สัญญา
@ชงบอร์ด รฟท. 26 ม.ค.เคาะสั่งจ้างสัญญา 4-5 เร่งสร้างทางวิ่งช่วงรอ HIA
โดยสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. รฟท.ได้ประมูลคัดเลือกผู้รับจ้างงานโยธา ราคากลางที่ 11,801 ล้านบาท โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD เสนอราคาต่ำสุด 9,913 ล้านบาท แต่ไม่ยืนราคา รฟท.จึงเชิญผู้เสนอราคาต่ำลำดับถัดไปเจรจา แต่บริษัทฯ ปฏิเสธ จึงเชิญรายที่ 3 ได้แก่ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด (เครือ บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริ่ง) เจรจาตามขั้นตอน สรุปราคาที่ 1.03 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้ตรวจสอบระเบียบที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. วันที่ 26 ม.ค. 2566 เพื่ออนุมัติสั่งจ้าง โดยดำเนินการภายใต้รายงาน EIA ฉบับเดิมที่ได้รับอนุมัติแล้วเพื่อเร่งก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่ง
ส่วนประเด็นสถานีอยุธยา ที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา การศึกษา HIA จะเสร็จประมาณเดือน เม.ย. 2566 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างในส่วนของสถานีต่อไป ซึ่งการแยกทางวิ่งออกมาก่อสร้างก่อนเพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เกิดความล่าช้าทั้งสัญญา
@ลุ้นศาลชี้ขาดสัญญา 3-1 เคลียร์พิพาท "ITD-นภาฯ"
สำหรับสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจาก บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ภายใต้ชื่อ กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอทุเลาการบังคับ กรณีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง พิจารณาให้บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (กลุ่มบริษัท นภาก่อสร้างและพันธมิตรจากประเทศมาเลเซีย) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขประมูล โดยศาลปกครองสูงสุดนัดตัดสินคดีวันที่ 10 ม.ค.นี้
ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ซึ่งเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 2566
@ชาวบ้านร้อง ปรับแบบยกระดับ ช่วงโคราช สัญญา 3-5 งบเพิ่ม 3-4 พันล้านบาท
สำหรับ 10 สัญญาที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ภาพรวมยังมีความล่าช้ากว่าแผน โดยได้พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 30% เท่านั้นเนื่องจากติดปัญหาการรื้อย้ายสาธารณูปโภค การแก้ปัญหาผู้บุกรุก สัญญาเช่า นอกจากนี้ ยังต้องเร่งแก้ปัญหาสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย) เป็นผู้ก่อสร้างที่คืบหน้าเพียง 2.89% เนื่องจากมีการร้องเรียนจากเทศบาลตำบลบ้านใหม่ จ.นครราชสีมา เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ โดยขอให้ รฟท.ปรับรูปแบบการก่อสร้างจากคันดินเป็นทางรถไฟยกระดับ ระยะทางประมาณ 8 กม. โดยส่งผลให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 พันล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้น 32 เดือน
โดยได้เสนอผู้ว่าฯ รฟท.พิจารณาแล้ว อยู่ระหว่างหารือกระทรวงคมนาคมเห็นชอบก่อน จึงเสนอบอร์ด รฟท.ขออนุมัติปรับแบบและเพิ่มวงเงินก่อสร้าง จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ส่วนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นยังอยู่ในกรอบวงเงินรวมที่ 1.79 แสนล้านบาท โดยขณะนี้ยังเหลือวงเงินราว 1 หมื่นล้านบาท
สำหรับสัญญา 2.3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 50,633.5 ล้านบาท รฟท.ได้ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 มีระยะเวลาดำเนินงาน 64 เดือน ตามสัญญาสิ้นสุด ก.พ. 2569 นั้น ได้มีการแจ้งให้เริ่มงานออกแบบ ( NTP) เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2563 (ระยะออกแบบ 8 เดือน) อยู่ระหว่างปรับแก้ไขแบบ
โดยสัญญา 2.3 แบ่งงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. งานออกแบบระบบทั้งหมดและขบวนรถไฟ 2. งานติดตั้ง ซึ่งจะเริ่มหลังจากงานโยธามีความคืบหน้าสามารถส่งมอบพื้นที่ให้เข้าวางราง และติดตั้งระบบไฟฟ้า, อาณัติสัญญาณ, ระบบสื่อสารได้ 3. งานฝึกอบรม ซึ่งมีการจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูงด้วย โดยตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2570