xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เปิดที่มาราคากลาง 33 ล้านบาท เปลี่ยนป้าย "บางซื่อ" ยันจำเป็นจ้าง "ยูนิค" ช่วงประกันสัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” แจงปมร้อนเปลี่ยนป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ" 33 ล้านบาท ตามประเพณี ทำไมแพงรอผลสอบ 15 วัน พร้อมเปิดเนื้องาน 4 กลุ่ม “ออกแบบ-รื้อถอน-ติดตั้ง-เพิ่มโครงอะลูมิเนียม” ยืนยันจำเป็นจ้าง "ยูนิคฯ" รับเหมาเดิมเหตุอยู่ในระยะประกันสัญญา

วันนี้ (5 มกราคม 2566) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบกระทู้สด นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เรื่อง กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ้างปรับปรุงป้ายสถานีกลางบางซื่อ มูลค่า 33.169 ล้านบาท ว่า กระทรวงคมนาคมได้ติดตามตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินโครงการ ปริมาณงานและข้อเท็จจริง ซึ่งการก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2564 โดยมีการก่อสร้างสถานีที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคม คือ สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งลักษณะใกล้เคียงกับการก่อสร้างโครงการสนามบินหนองงูเห่า (ชื่อเรียกในอดีต) ที่ต่อมาได้พระราชทานนามว่า “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” เป็นนามมงคลที่รู้จักทั่วโลก

กรณีเปิดให้บริการโครงการรถไฟสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ กระทรวงคมนาคมพิจารณาว่าระบบขนส่งมวลชนได้รับพระราชทานชื่อเป็นมงคลต่อหน่วยงานและผู้ใช้บริการ กระทรวงคมนาคมจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการฯ และดำเนินการขอพระราชทานชื่อโครงการและสถานีเดือน พ.ค. 2564

โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือเลขที่ นร.0508/ท4784 ลงวันที่ 2 กันยายน 2565 เรื่อง ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) และสถานีกลางบางซื่อ สำนักพระราชวังแจ้งว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อดังนี้

- พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า “นครวิถี”
- พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า “ธานีรัถยา”
- พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อ ว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 กระทรวงคมนาคมจึงได้สั่งการให้ รฟท.ติดตั้งป้ายชื่อพระราชทานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ลักษณะป้ายชื่อพระราชทาน “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” จะมีการติดตั้งบริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย 1. ตัวอักษรภาษาไทย “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ขนาดสูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร จำนวน 19 ตัวอักษร 2. ตัวอักษรภาษาอังกฤษ “Krung Thep Aphiwat Central Terminal” ขนาดสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร ผลิตตัวอักษรด้วยอะคริลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟด้านหลัง

โดยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 รฟท.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงานและราคากลาง โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ รฟท. มีวิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างเป็นประธาน และกรรมการ จำนวน 9 คน ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ได้มีคำสั่งใหม่ โดย รฟท.ได้รายงานว่าการติดตั้งป้ายชื่อจำเป็นต้องมีการรื้อถอนกระจกรวมถึงเหล็กอะลูมิเนียมรับน้ำหนักความยาวจุดละ 60 เมตร หรือขยายจากเดิมอีก 20 เมตร เนื่องจากป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นป้ายขนาดใหญ่ มีความยาวชื่อจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิม ป้ายอักษรติดตั้งโดยมีเสารับน้ำหนักในตัวอาคาร และเจาะทะลุกระจกยึดตัวอักษรแต่ละตัว จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขการก่อสร้างเดิม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ


@เปิดงบ 33 ล้านบาท งาน 4 กลุ่ม “รื้อถอน-ติดตั้ง-เพิ่มโครงสร้าง-ออกแบบ”

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาได้มีการประมาณราคากลาง และมีคณะกรรมการกำหนดราคา ได้แบ่งงานออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มงานโครงสร้างวิศวกรรม เป็นการดำเนินการรื้อถอนที่ต้องใช้รถเครนขนาดใหญ่ ไม่น้อยกว่า 3 ตัว มูลค่างาน 6.228 ล้านบาท

2. กลุ่มงานด้านสถาปัตยกรรม เป็นงาน ติดตั้งกระจกใหม่ เป็นกระจกความหนา และมีพื้นที่ 85 ตารางเมตร รวมถึงงานติดตั้งโครงอะลูมิเนียมวัสดุใหม่อีก 188 ตารางเมตร และงานติดตั้งป้าย และตราสัญลักษณ์ รฟท.จำนวน 2 ชุด มูลค่างาน 24.394 ล้านบาท

3. กลุ่มงานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ มูลค่า 0.92 ล้านบาท และ 4. กลุ่มงานติดตั้งรื้อถอน ปิดแทนกระจกระหว่างรอติดตั้งวัสดุใหม่ มูลค่า 1.627 ล้านบาท

โดย รฟท.ได้กำหนดทีโออาร์ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งการจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง รายเดิมเนื่องจากการดำเนินงานดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่องานเดิม ที่อยู่ในระยะค้ำประกันสัญญาของผู้รับเหมาเดิมที่อาจเกิดความเสียหายได้ จึงต้องให้บริษัทเดิมดำเนินงาน


ทั้งนี้ ตามที่มีกระแสข่าวปรากฏในสื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย กระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่ง ณ วันที่ 4 มกราคม 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นรองประธานกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สภาสถาปนิก สภาวิศวกร และกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการ โดยให้มีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริง ในกรณีที่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใดที่กล่าวอ้างหรือพาดพิงถึงบุคคล เอกสาร หรือวัตถุใดที่จะเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการฯ ทำการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานนั้นไว้ให้ครบถ้วน ถ้าไม่อาจเข้าถึงหรือได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ด้วย รวมถึงให้คณะกรรมการฯ เรียกบุคคลใดมาเป็นพยานเพื่อชี้แจงหรือให้ถ้อยคำตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ได้ ตลอดทั้งพิจารณาทำความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้รายงานผลการสอบสวนภายใน 15 วัน

ด้านนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า คำถามคือ ราคา 33 ล้านบาทแพงไปหรือไม่ ความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนชื่อและการเร่งรัดจ้างเฉพาะเจาะจง ทำราคากลางแบบเร่งด่วน และการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบนั้น เป็นสูตรสำเร็จที่ทำให้เห็นว่า รัฐมนตรีได้แสดงความรับผิดชอบแล้ว สุดท้ายผลก็จะไม่มีอะไร รอดกันหมด ซึ่งกรณีนี้ตนเห็นว่าตั้งกรรมการสอบไม่ได้ เพราะเรื่องนี้มีความต้องการเปลี่ยนชื่อสถานีกลางบางซื่อและทำหนังสือขอพระราชทานชื่อ ขณะที่ป้ายเดิมเพิ่งติดตั้งเสร็จ แต่ต้องการเปลี่ยนโดยไม่สนใจว่าจะเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร และยังต้องมีป้ายภายในสถานี หรือจุดอื่นอีกเท่าไร ที่ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ในขณะที่ รฟท.ขาดทุนต่อเนื่องทุกปี เป็นองค์กรที่มีหนี้สะสมกว่า 2 แสนล้านบาทจวนจะล้มละลายอยู่แล้ว รัฐมนตรีใช้เงินมือเติบเกินไปหรือไม่


นายศักดิ์สยามชี้แจงว่า การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ มีบุคคลภายนอกที่เกี่ยวกับเรื่องกำหนดราคากลาง หรือด้านวิศวกรรมสถาปัตยกรรมมาร่วมตรวจสอบ เพราะไม่มีเรื่องที่ต้องปกปิด ขอให้รอผลตรวจสอบ ตนยืนยันเมื่อผลออกมาจะรายงานต่อสาธารณชน หากผิดต้องดำเนินการต่อผู้เกี่ยวข้อง หากถูกต้อง  รฟท.ต้องดำเนินการโครงการต่อไป ส่วนกรณีราคาถูกหรือแพง ตนไม่ยืนยันเพราะไม่ได้กำหนดราคา ซึ่งกระทรวงฯ จะตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด และยืนยันว่าการเปลี่ยนชื่อไม่ใช่ความต้องการของตนเอง แต่เป็นประเพณีปฏิบัติ ซึ่งในอดีตจนถึงปัจจุบันมีการดำเนินการในลักษณะเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น