xs
xsm
sm
md
lg

“ป็อปคอร์น” กู้ชีพตั๋วหนัง เมเจอร์ฯ ปั้นตุ๊กตาทองใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - ถอดบทเรียนจากโควิด ในวิกฤตมันคือโอกาส ถ้าปักธงถูกทิศถูกทางลม ไม่มีทางล้มมีแต่โกยแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับธุรกิจโรงหนัง 3 ปีที่ถูกโควิดเล่นงาน ถือเป็นธุรกิจที่ถูกสั่นคลอนมากที่สุด โอกาสเจ็บเยอะสุดก็ต้องยกให้พี่เขา แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ทำไมโรงหนังถึงยังอยู่รอดปลอดภัย ไขคำตอบไปกับพลัง ‘ป็อปคอร์น’ ตัวเปลี่ยนเกมจากม้านอกสายตา กลายเป็นหมากตัวสำคัญที่ทาง “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” มองเป็นความท้าทายครั้งใหม่ ที่พร้อมทุ่มเทเต็มกำลัง ชูเป็นพระเอกเบอร์ 1 สู่การสร้างรายได้หลักในอนาคต แซงหน้ายอดขายตั๋วหนังแล้วในวันนี้ 

ใครกันจะคิดว่าป็อปคอร์นที่ขายหน้าโรงหนัง จากราคาหลักร้อย จะเหลือแค่หลักสิบ รวมถึงหลักหน่วยก็มีมาแล้ว และมีขายเฉพาะในช่องทางออนไลน์อีกด้วยในช่วงโควิดที่ผ่านมา และนั่นคือทางออกของธุรกิจโรงหนังที่ต้องเอาตัวให้รอด เพราะช่วงนั้นต้องปิดโรงหนัง ฉายหนังไม่ได้ หนังฟอร์มยักษ์ยังชะลอเลื่อนฉาย ผู้คนเปลี่ยนวิถีชีวิตไม่ติดดูหนังโรงแต่ติดดูหนังออนไลน์แทน


“ป็อปคอร์น” จึงถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการเรียกร้อง ทดแทนความคิดถึงของการดูหนังโรง จากเพียงแค่หวังประคองตัว ใครกันจะคิดว่าป็อปคอร์นจะกลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาวเลี้ยงโรงหนังให้อยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงตอนนี้ และกำลังจะเป็นตัวตึงขั้นสุดที่จะเข้ามาดูแลธุรกิจโรงหนังต่อไปในอนาคต กับตัวเลขยอดขายต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท! หรือคุยแบบอวดๆ ก็แค่ 2,500 ล้านบาท ที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ขายป็อปคอร์นได้ในปีนี้ และยังคิดเป็น 70% แซงหน้ารายได้หลักของยอดขายตั๋วหนังที่ปีนี้อยู่ที่ 30% ไปแล้ว
 
“เราเองไม่เคยคิดว่าป็อปคอร์นของเมเจอร์ฯ จะเป็นที่ชื่นชอบมากขนาดนี้ จากก่อนที่จะเกิดโควิด ยอดขายป็อปคอร์นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจโรงหนัง แต่เพราะโควิด และเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภค ทางเมเจอร์ฯ จึงได้นำเอาป็อปคอร์นมาทำตลาด ทำไปทำมาพบว่าผู้บริโภคให้การตอบรับดีมาก จนเกิดเป็นนิวบิสิเนสไอเดีย ที่เวลานี้ทางเมเจอร์ฯ พร้อมให้ความสำคัญ และผลักดันให้เป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักของเมเจอร์ต่อไป โดยในปี 2566 ตั้งเป้าหมายไว้ว่ายอดขายป็อปคอร์นและยอดขายตั๋วหนังจะต้องมีสัดส่วน 50% เท่าๆ กัน จากตัวเลขรายได้รวมที่วางไว้ราวๆ 10,000 ล้านบาท หรือกลับมาทำได้เท่ากับปี 2562 ที่ผ่านมาก่อนที่จะเกิดโควิด ที่สำคัญ ในอนาคตมองว่ารายได้จากป็อปคอร์นจะเข้ามาแทนที่รายได้จากตั๋วหนังอย่างแน่นอน” นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดใจ หลังจากห่างหายกันไป ไม่ได้มีการอัปเดตธุรกิจกันกว่า 3 ปี
 


นายวิชายังได้ฉายภาพธุรกิจต่อไปอีกว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมาเราได้นำป็อปคอร์นมาลองทำในเชิงธุรกิจดู เช่น เอาเข้าไปขายในร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น แต่สุดท้ายล้มไม่เป็นท่า เพราะในความเป็นจริงมันไม่ใช่ธุรกิจที่เราถนัด เราไม่มีความรู้เลย แถมราคาสินค้าที่ตั้งไว้ก็ค่อนข้างสูงเมื่อเอาไปขายในเซเว่นฯ จึงได้กลับมาทบทวนกันใหม่ สุดท้ายมันจึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมช่วงที่ผ่านมาเราได้เข้าไปถือหุ้นบางส่วนใน “เถ้าแก่น้อย” เพราะเรามองเห็นว่า เขามีความถนัดในธุรกิจขนบขบเคี้ยวแบบนี้มากกว่าเรา และช่วยให้เราขายป็อปคอร์นได้อย่างแน่นอน ดูจากความสำเร็จของแบรนด์เถ้าแก่น้อยที่ผ่านมา

“พูดง่ายๆ คือ เราให้ทางเถ้าแก่น้อย OEM ให้เรา ในรูปแบบที่เราเข้าไปถือหุ้นบริษัทบางส่วน โดยยืมพลังของเถ้าแก่น้อยในด้านการผลิต ทำการตลาด และจัดจำหน่ายให้เรา เพราะเราไม่ถนัดเรื่องเหล่านี้เลย จากความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของธุรกิจป็อปคอร์น ที่จะไม่หยุดแค่การทำตลาดในประเทศเท่านั้น แต่หมายถึงการเข้าไปทำตลาดในต่างประเทศอีกด้วย จากการใช้เครือข่ายทั้งหมดของทางเถ้าแก่น้อยที่มีอยู่ จึงมั่นใจได้ว่าธุรกิจป็อปคอร์นจะกลายเป็นธุรกิจหลักที่ทำเงินในอนาคต แทนที่ธุรกิจโรงหนังอย่างแน่นอน เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันป็อปคอร์นที่เมเจอร์ขายนอกโรงหนังยังเข้าถึงผู้บริโภคได้น้อยมาก แต่ทำยอดขายรวมได้กว่า 70% ของธุรกิจโรงหนังแล้ววันนี้ ดังนั้น หากวันข้างหน้าสามารถเข้าไปขายในเซเว่นฯ ครอบคลุมทุกสาขาแล้ว รวมถึงตลาดต่างประเทศ จะทำเงินได้มากมายขนาดไหน”


ทั้งนี้ ธุรกิจป็อปคอร์นถือเป็น 1 ใน 3 สิ่งที่ทางคุณวิชาได้วางหมากไว้สำหรับแผนของปี 2566 ที่ต้องการจะนำมาขับเคลื่อนธุรกิจโรงหนังต่อไป ประกอบด้วย 1. Customer Experience เป็นกลยุทธ์ที่ทำตั้งแต่ก่อนมีโควิดและยังทำต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสถึงการดูหนังในโรงได้อรรถรสและประสบการณ์ในการรับชมมากยิ่งขึ้น เช่น การนำเข้าสุดยอดเทคโนโลยีล่าสุดของโลกภาพยนตร์มาเติมเต็มบริการให้ลูกค้าคนไทยได้สัมผัสประสบการณ์พิเศษก่อนใคร ทั้งระบบการฉาย “IMAX ginjv’with LASER” และ “ScreenX PLF” ที่หาชมได้ยาก เอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เท่านั้น ตลอดจนเป็นโรงภาพยนตร์รายแรกของโลกที่นำเทคโนโลยี “CAPSULE HOLOGRAM” ที่ผสมผสานโลกแห่งความเป็นจริงและเมตาเวิร์ส สามารถใช้ได้ทั้งในโรงภาพยนตร์และในงานพิเศษต่างๆ

2. Thai Movie Content มุ่งสร้างและสนับสนุนหนังไทย ให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ต่อไป รวมถึงต้องการให้สัดส่วนรายได้รวมของตลาดหนังไทยทำได้ 50% เท่าหนังฮอลลีวูด ซึ่งปีนี้อยู่ที่ 30% จากทั้งหมด 40 เรื่องที่เข้าโรงฉาย และปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 40% โดยปี 2566 เมเจอร์ตั้งเป้าผลิตหนังไทยไม่ต่ำกว่า 10-15 เรื่อง จากภาพรวมตลาดภาพยนตร์ในปี 2566 เชื่อว่าจะกลับมาเท่าปี 2562 หรือก่อนเกิดโควิดที่เคยทำไว้ถึง 7,000 ล้านบาท เพราะเท่าที่คุยกับค่ายหนังดังฝั่งฮอลลีวูด ต่างพร้อมลงทุนและโชว์หน้าหนังทำเงินเตรียมเข้าฉายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อะควาแมน, แอนต์แมน, ฟาสต์ 10 และทรานส์ฟอร์เมอร์ เป็นต้น


3. New Business กับธุรกิจป็อปคอร์น จากตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ที่ทำให้ทุกธุรกิจเกิดการชะงัก แต่ในส่วนของการจำหน่ายป็อปคอร์นกลับมีตัวเลขการเติบโตของรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดขายป็อปคอร์นนอกโรงหนัง ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน

โดยมีช่องทางการจัดจำหน่าย ดังนี้ 1. Delivery : ผ่าน Grab, Food Panda, Line Man, Shopee Food, Robinhood, Air Aisa Food จากช่วงแรกรายได้ต่อเดือนทำได้เพียงหลักหมื่นบาท ปัจจุบันพุ่งสูงขึ้นถึง 20-30 ล้านบาทต่อเดือน 2. Kiosks & Event : ณ สิ้นปี 2565 มี Kiosks สาขานอกโรงภาพยนตร์บริการรวม 19 สาขา และในปี 2566 จะมี Kiosks บริการเพิ่มอีก 20 สาขา 3. Modern Trade : ผ่าน Convenience Store เซเว่น อีเลฟเว่น, Discounted Store โลตัส บิ๊กซี และ Supermarket ได้แก่ วิลล่า มาร์เก็ต, กูร์เมต์ มาร์เก็ต, โฮม เฟรช มาร์ท, ท็อปส์ มาร์เก็ต และฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และ 4. Major Mall


ทั้งนี้ ตามแผนในปี 2566 เมเจอร์ฯ พร้อมใช้เม็ดเงินร่วม 1,000 ล้านบาทสำหรับปรับปรุงเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อดึงคนให้เข้ามาดูหนังมากขึ้น รวมถึงใช้ขยายสาขาโรงหนังมากที่สุดถึง 13 สาขา รวม 49 โรง ด้วยงบลงทุน 600 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. One Bangkok 2. เซ็นทรัล ราชพฤกษ์ 3. โรบินสัน ฉลอง 4. โลตัส นครนายก 5. สระแก้ว 6. นราธิวาส 7. ปัตตานี 8. บิ๊กซี บางบอน 9. สระบุรี 10. ยะลา รวมถึงเปิดกับไฮเปอร์มาร์เกตอีก 2 สาขา และเปิดเป็นสแตนด์อะโลนที่ภูเก็ตอีก 1 สาขา นอกจากนี้ยังมีแผนขยายโบว์ลิ่งเพิ่มอีก 3 สาขา 40 เลน และคาราโอเกะอีก 30 ห้องด้วย

นายวิชายังได้กล่าวถึงตัวเลขรายได้ไว้ด้วยว่า จบปี 2565 มั่นใจว่ารายได้เมเจอร์ฯ จะอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท หรือกลับมาที่ 70% เทียบจากปี 2562 ที่เคยทำไว้ 10,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 มั่นใจว่าจะกลับมา 100% หรือน่าจะมีรายได้ที่ 10,000 ล้านบาทอีกครั้ง โดยรายได้จากตั๋วหนังและป็อปคอร์นจะอยู่ที่ 50% เท่าๆกัน


“เมเจอร์ฯ กำลังจะก้าวเข้าสู่ช่วงปีที่ 30 เราผ่านมาแล้วหลายวิกฤต ที่ผ่านมาจะเห็นว่า เมเจอร์ฯ เข้าไปซื้อหุ้น หรือทำโน่นนี่นั่นหลายอย่าง ซึ่งบางครั้งก็ไม่เกี่ยวกับธุรกิจโรงหนังเลย แต่สำหรับโควิดครั้งนี้ทำให้ได้เราเรียนรู้ว่าอะไรที่ไม่ถนัดเราได้โละทิ้งหมด และหันมาโฟกัสกับสิ่งที่เราถนัดเท่านั้น นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่เมเจอร์ฯ ได้ขายหุ้นเอสเอฟ หรือ บมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ ไปเมื่อปีก่อน แต่เป็นการขายที่ได้กำไรมากกว่าครึ่ง และนำเงินส่วนนี้มาซื้อหุ้นเถ้าแก่น้อย เพื่อมาต่อยอดในธุรกิจป็อปคอร์นแทนนั่นเอง” นายวิชากล่าวปิดท้าย

จากม้านอกสายตาในวันนั้น สู่ม้าแข่งตัวหลักในวันนี้ ถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 30 ของเมเจอร์ฯ กับ “พลังป็อปคอร์น” ที่จะมาขับเคลื่อนอาณาจักรโรงหนังเมเจอร์ว่าไปได้ไกลอีกสักเพียงใดในวันพรุ่งนี้ เราพร้อมรอชมไปด้วยกันกับป็อปคอร์นอร่อยๆ ที่อยู่ในมือ


















กำลังโหลดความคิดเห็น