ครม.ไฟเขียว PPP ระบบ O&M มอเตอร์เวย์ ยกระดับพระราม 2 “บางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว” วงเงินรวมกว่า 1.52 หมื่นล้าน ทล.ตั้งเป้าเปิดประมูลกลางปี 66 เปิดให้บริการเต็มรูปแบบปี 68
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 ธ.ค. 2565 มีมติเห็นชอบในรูปแบบการร่วมลงทุน (PPP) ให้เอกชนร่วมลงทุนดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 หรือมอเตอร์เวย์ M82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทางรวม 24.6 กม.
โดยเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost มีระยะเวลาสัญญา 32 ปี (ก่อสร้าง 2 ปี และบริหารและบำรุงรักษาระบบ O&M 30 ปี) โดยโครงการมีมูลค่ารวมประมาณ 31,703.01 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบคือ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าก่อสร้างงานโยธา 30,523.68 ล้านบาท และเงินลงทุนของภาคเอกชน จำนวน 1,179.33 ล้านบาท ประกอบด้วย ลงทุนงานระบบตลอดทั้งสายทาง เช่น ระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมการจราจร ระบบโครงข่ายสื่อสาร พร้อมทั้งให้ภาคเอกชนดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) จำนวน 14,027.98 ล้านบาท
คาดว่าจะเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในกลางปี 2566 และเริ่มก่อสร้างติดตั้งงานระบบช่วงแรกภายในปลายปี 2566 สำหรับการเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทาง จะใช้ระบบ M-Flow 100% เชื่อมต่อกับระบบทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-บางขุนเทียน ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อย่างไร้รอยต่อ
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธา โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว โดยก่อสร้างเป็นทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษ มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 จากบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 8.2 กม. วงเงินก่อสร้างรวม 10,500 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณแผ่นดินก่อสร้างงานโยธาแบ่งเป็น 3 ตอน โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปัจจุบันมีความคืบหน้า 77%
ช่วงที่ 2 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม. วงเงินก่อสร้างรวม 19,700 ล้านบาท โดยใช้เงินจากเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางก่อสร้างงานโยธา โดยแบ่งเป็น 10 ตอน ปัจจุบันมีความคืบหน้า 10%
คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตลอดทั้งสายจากบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว พร้อมงานระบบเก็บเงินค่าผ่านทางได้ในปี 2568
ซึ่งจะส่งผลให้การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล เชื่อมต่อลงสู่ภาคใต้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ช่วยบรรเทาความแออัดของการจราจรบนถนนพระราม 2 รองรับการคมนาคมและขนส่งสินค้า ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาคใต้ ซึ่งมีทรัพยากรด้านแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น อีกทั้งเป็นการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย