“สินิตย์” เผยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 10 เดือนมีมูลค่า 6,778.55 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 37.38% หากรวมทองคำยอดพุ่ง 13,620.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 66.50% คาดแนวโน้มที่เหลือยังขยายตัวได้ดี เหตุเป็นช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แนะผู้ประกอบการหันเจาะตลาดเกิดใหม่ในเอเชียและตะวันออกกลางที่กำลังเติบโตดี และต้องเน้นผลิตสินค้าปกป้องสิ่งแวดล้อม ทำเกรดพรีเมียมตอบสนองลูกค้ากลุ่มบนที่มีกำลังซื้อ
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 10 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 6,778.55 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 37.38% และหากรวมทองคำมีมูลค่า 13,620.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 66.50% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักของโลก และเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยปลายปี ทั้งคริสต์มาสและปีใหม่เข้ามากระตุ้นการบริโภค ทำให้มีความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เฉพาะทองคำ ส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 50.23% ของยอดส่งออกรวม 10 เดือน มีมูลค่า 6,842.31 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 110.74% ซึ่งเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการของธนาคารกลางประเทศต่างๆ แม้ว่าราคาทองคำจะปรับตัวลดลงจากการที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่เชื่อว่าแนวโน้มราคาจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากการที่เฟดชะลอการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง
นายสินิตย์กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับคาดว่าจะยังขยายตัว แม้ว่าเริ่มมีสัญญาณการหดตัวของคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า แต่การเข้าสู่ช่วงเทศกาลปลายปีทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยจะเป็นปัจจัยหนุนทำให้มีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ แต่ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนขยายตลาดไปยังตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ในเอเชียและตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ควบคู่ไปกับการรักษาตลาดเดิม และต้องเน้นการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รักษาคุณภาพมาตรฐานให้ตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการ หรือทำสินค้าเกรดพรีเมียม เพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มบนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจน้อยกว่า
ในด้านการทำตลาด ควรจะหันมาใช้เทคโนโลยีอย่าง AR หรือ VR นำเสนอสินค้าออนไลน์ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสสินค้าใกล้เคียงความจริง ก่อให้เกิดความประทับใจและสร้างโอกาสในการซื้อได้เร็วขึ้น และต้องหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันไทยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ให้บริการด้านข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ การตรวจสอบ และสร้างมาตรฐาน GIT Standard และบริการการอบรมด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้บริการได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรม