xs
xsm
sm
md
lg

ทล.เร่งออกแบบตัดถนนแนวใหม่ "อุดร-บึงกาฬ" งบ 1.9 หมื่นล้าน จ่อเวนคืน 5,600 ไร่เปิดพื้นที่ก่อสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทล.จ่อทุ่มงบ 1.9 หมื่นล้านบาท และเวนคืนที่ดินกว่า 5,600 ไร่ เปิดแนวตัดถนนใหม่ "อุดรธานี-บึงกาฬ" ระยะทาง 155 กม. ลดเวลาเดินทางกว่าครึ่ง รองรับปริมาณจราจรและขนส่งสินค้าเพิ่มหลังเปิดสะพานมิตรภาพ 5 คาดออกแบบเสร็จปี 66 เร่งสร้าง 4 ปี

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงจังหวัดอุดรธานี-จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นทางหลวงแนวใหม่ ระยะทาง 155 กม. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อร่นระยะเวลาเดินทาง ในการเชื่อมโยงระหว่าง 2 จังหวัดลงจากเดิมได้ครึ่งหนึ่งแล้ว ยังเป็นโครงข่ายที่จะรองรับการเดินทาง และการขนส่งสินค้า เมื่อเปิดให้บริการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) อีกด้วย

ทั้งนี้ สาเหตุที่มีการศึกษาออกแบบโครงการก่อสร้างทางหลวงเส้นทางใหม่ "อุดรธานี-บึงกาฬ" เนื่องจากปัจจุบันเส้นทางหลักที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดอุดรธานีกับจังหวัดบึงกาฬที่มีอยู่ 2 เส้นทาง มีระยะทางไกลและต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 3 ชม. 

ได้แก่ 1. เส้นทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดหนองคายผ่านทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านตัวเมืองหนองคาย และใช้ทางหลวงหมายเลข 212 เลียบแม่น้ำโขงเพื่อมุ่งหน้าสู่จังหวัดบึงกาฬ มีระยะทางประมาณ 221 กม. ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง 25 นาที

2. เส้นทางมุ่งหน้าสู่สกลนคร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านตัวเมืองอุดรธานี แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 216 เส้นทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดสกลนคร ผ่านทางหลวงหมายเลข 22 และทางหลวงหมายเลข 222 มุ่งหน้าสู่จังหวัดบึงกาฬ มีระยะทางประมาณ 230 กม. ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางอื่นที่เป็นโครงข่ายถนนย่อยในพื้นที่ระหว่าง 2 จังหวัด ซึ่งสามารถใช้เป็นทางเลือกในการเดินทาง โดยมีระยะทางมากกว่า 200 กม. และไม่สะดวกในการเดินทางคมนาคมขนส่ง ในขณะที่คาดการณ์ว่าเมื่อมีการดำเนินการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) จะส่งผลให้เกิดความต้องการการเดินทางไปสู่จังหวัดบึงกาฬที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก


จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาแนวโครงข่ายทางหลวงเพื่อรองรับการเปิดให้บริการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ซึ่งจะสนับสนุนการค้าชายแดนประตูการค้าใหม่ และแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางหลวงอีกด้วย

สำหรับแนวเส้นทางสายใหม่ระหว่างอุดรธานี-บึงกาฬ ขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 155 กม. มีทางแยกต่างระดับ 3 แห่ง สะพานข้ามแยก 8 แห่ง มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณทางหลวงหมายเลข 2 อำเภอกุมภวาปี-จุดสิ้นสุดที่บริเวณทางเลี่ยงเมือง บึงกาฬ ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที ซึ่งจะสามารถลดระยะทางในการเดินทางลงจากปัจจุบันได้ประมาณ 66 กม. และลดระยะเวลาในการเดินทางลงประมาณ 2 ชั่วโมง

เบื้องต้นประมาณการวงเงินลงทุนรวม 19,250 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างประมาณ 16,950 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินประมาณ 2,300 ล้านบาท โดยเวนคืนที่ดิน 5,668 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 10 หลัง

ทั้งนี้ โครงการมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเบื้องต้น (EIRR) 19.23% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 6,112.20 ล้านบาท มีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) 1.52

โครงการได้ศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเสร็จแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2565 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จภายในปี 2566


ตามแผนงาน ทล.จะเสนอเรื่องจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในช่วงปี 2567-2568 เสนอของบประมาณก่อสร้างปี 2568-2571 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2571

โดยคาดการณ์ปริมาณจราจรในปี พ.ศ. 2590 ว่าจะมีปริมาณจราจรสูงในช่วงต้นทางของโครงการตั้งแต่ถนนทางหลวงหมายเลข 2 ตัดกับถนนโครงการไปจนถึงทางหลวงหมายเลข 2022 ตัดกับถนนโครงการประมาณ 30,000
ถึง 40,000 เที่ยว-คัน/วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น