นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ 5 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันพัฒนาและบริหารจัดการแพลตฟอร์มกลางของสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยเมื่อเร็วๆ นี้ทั้ง 5 หน่วยงานได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงโครงข่ายแอปพลิเคชันการจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งในเฟสแรกของความร่วมมือดังกล่าวได้ร่วมกันพัฒนาให้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถค้นหาพิกัดสถานีอัดประจุไฟฟ้าของทั้ง 5 หน่วยงาน ผ่านแอปพลิเคชันทุกเครือข่าย ได้แก่ MEA EV (MEA), PEA VOLTA (PEA), EleXA (EGAT), EV Station PluZ (OR) และ EA Anywhere (EA) ได้สำเร็จ และเปิดทดลองใช้งานเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับพัฒนาในเฟสต่อไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง (MEA) เปิดเผยว่า MEA ได้ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 เป็นวาระครบรอบ 10 ปีที่ MEA ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ EV มีโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาครอบคลุมทั้งในด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า และรูปแบบยานยนต์ไฟฟ้าต่างๆ ตลอดจนการสร้าง MEA EV Application ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้รถ EV อย่างครบวงจร ซึ่ง MEA พร้อมที่จะบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
นายสมปอง ดำรงอ่องตระกูล รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า PEA ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการเชื่อมต่อเครือข่ายสถานีชาร์จ PEA VOLTA กับเครือข่ายของพันธมิตร โครงการนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าทั่วไทย สามารถใช้งานแอปฯ เดียวกับสถานีในเครือข่ายทั้งหมด ความพึงพอใจและสะดวกสบายของลูกค้าเป็นเป้าหมายหลักของ PEA VOLTA
นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ ในฐานะ Project Management Office การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) กล่าวว่า EGAT ได้ดำเนินการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าด้วยระบบนิเวศด้านยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โดยมุ่งเน้นให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันด้วยความมั่นใจ สำหรับการเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชัน EleXA ในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการถือแผนที่เดียวก็สามารถเห็นสถานะปัจจุบันของทุกสถานีได้ เพื่อประสบการณ์ที่ดีในการเดินทางด้วยแบตเตอรี่ ไปได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย
นางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการ Orion บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) กล่าวว่า OR มุ่งมั่นผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับการเดินทางและการขนส่งเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) อย่างครบวงจร ตามหนึ่งในพันธกิจของ OR คือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจพลังงานแบบผสมผสานเพื่อการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ (Seamless Mobility) การเชื่อมโยงโครงข่ายการจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้าเข้ากับแอปพลิเคชัน EV Station PluZ ของ OR ในครั้งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นสำหรับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) กล่าวว่า กลุ่ม EA ได้มีการขยายการให้บริการสถานีชาร์จ "EA Anywhere" อย่างต่อเนื่อง มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าเป็นส่วนร่วมของการเริ่มต้นเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีชาร์จ สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ที่สนใจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มความสะดวกสูงสุดแก่ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบันให้สามารถค้นหาสถานีชาร์จได้ง่ายขึ้น และเป็นการยกระดับให้ประเทศไทยมีความพร้อมของเครือข่ายสถานีชาร์จรองรับเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า
ความร่วมมือในการพัฒนาแอปพลิเคชันของทั้ง 5 หน่วยงานนี้ ถือเป็นการนำร่อง เพื่อเตรียมขยายผลต่อยอดไปยังความร่วมมือในการเชื่อมต่อการใช้งานร่วมกันของแต่ละเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอิน-ไฮบริด (PHEV) และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) หรือ EVAT Charging Consortium ของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ระหว่าง 12 หน่วยงานในลำดับต่อไป อันได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, บริษัท อรุณพลัส จำกัด, บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR), บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จํากัด, บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จํากัด, บริษัท ชาร์จแมเนจเม้นท์ จำกัด, บริษัท โชเซ่น เทคโนโลยี จํากัด, บริษัท พลังงานมหานคร จํากัด, บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด และ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด