“ณัฐพล” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมชูปฏิรูปการทำงานตามแนวคิด MIND ใช้หัวและใจขับเคลื่อนแผนงานปี 2566 มุ่งยกระดับ “อุตสาหกรรมดีอยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” วาง 4 มิติ ส่งเสริมธุรกิจ ดูแลชุมชน รักษาสิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่สมดุลกับสิ่งแวดล้อมและ ศก. ภายใต้ BCG Model
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2566 ว่า ได้มุ่งเน้นให้ 20 หน่วยงานในกำกับดูแลเน้นการปฏิรูปการทำงานตามแนวคิด "MIND" ใช้หัวและใจปฏิรูปกระทรวง ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแนวคิด BCG Model ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นย้ำ และเป็นส่วนสำคัญของปฏิญญากรุงเทพ ผลลัพธ์จากการประชุมผู้นำเอเปก 2565 ในวาระที่ไทยเป็นเจ้าภาพระหว่าง 18-19 พ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การปฏิบัติที่มุ่งพัฒนา “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” เป็นการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ผ่าน 4 มิติ จะส่งผลดีต่อธุรกิจ ชุมชน สิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้ ปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-curve ที่มุ่งเน้นการผลิต และโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยประกอบด้วย
ขับเคลื่อนโรงงานคู่ชุมชนยั่งยืนมิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ การปรับธุรกิจให้เหมาะสมกับโลกอนาคต การแข่งขันด้านประสิทธิภาพ และต้นทุน รวมถึงการลดผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน เพิ่มความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมฐานราก เช่น เกษตรอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์แห่งอนาคต
มิติที่ 2 การดูแลชุมชนโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งยามปกติ และเมื่อเกิดวิกฤต เพื่อลดความเสี่ยงข้อขัดแย้ง และกระตุ้นให้เกิดการประกอบการที่ดี ปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ประชาชน
มิติที่ 3 การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065
มิติที่ 4 การกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เน้น “การสร้างงาน สร้างอาชีพ” ให้คนรุ่นใหม่ต่อยอดอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวหรืออัตลักษณ์ชุมชน ขณะเดียวกันจะกระตุ้นผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ทำงานร่วมกับชุมชน และเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง
“เศรษฐกิจโลกยังคงผันผวนจากหนี้สาธารณะของหลายประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยเกือบ 100% เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2566 เช่น สภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย การส่งออกหดตัว ภาวะเงินเฟ้อ น้ำมันแพง ค่าเงินบาทอ่อน และดอกเบี้ยสูง ทำให้สินค้าจำเป็นมีการปรับราคาสูงขึ้น อีกทั้งปัญหาด้านโครงสร้างของอุตสาหกรรมที่เริ่มแข่งขันได้ยากขึ้น เช่น ต้นทุนด้านแรงงาน และการเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงปัญหาด้านภาพลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรมต่อประชาชน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม จำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมเพื่อตอบโจทย์สิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไป” ปลัดอุตสาหกรรมกล่าว