กทพ.ชงบอร์ดยกเว้นค่าผ่านทาง 2 สาย ’บูรพาวิถีและบางพลี-สุขสวัสดิ์' รวม 6 วัน ช่วงปีใหม่ 66 คาดสูญรายได้ 93 ล้านบาท ขณะที่ปี 65 เดินทางฟื้น ฐานะการเงินแกร่ง มีกำไร 9,000 ล้านบาทจ่ายผลตอบแทน TFF ตามเป้า
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด กทพ.วันที่ 29 พ.ย. 2565 นี้ จะมีวาระการพิจารณายกเว้นค่าผ่านทางพิเศษเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้แก่ผู้ใช้ทางด่วน และอำนวยความสะดวกและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จำนวน 2 สายทาง ประกอบด้วย ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (ทางด่วนสายบางพลี-สุขสวัสดิ์) ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 30 ธันวาคม 2565 จนถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 4 มกราคม 2566 รวมทั้งสิ้น 6 วัน ซึ่งคาดว่าจะไม่ได้รับรายได้จากค่าผ่านทางรวมประมาณ
จากการวิเคราะห์คาดว่าจะมีปริมาณจราจรของทั้ง 2 สาย ในช่วง 6 วัน ประมาณ 2.27 ล้านคัน ทำให้ กทพ.ไม่ได้รับรายได้ประมาณ 93.45 ล้านบาท แบ่งเป็นทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี (20 ด่าน) มีปริมาณจราจรจำนวน 938,484 คัน คิดเป็นเงินรายได้ 36.98 ล้านบาท ทางด่วนสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ (30 ด่าน) มีปริมาณจราจรจำนวน 1.33 ล้านคัน เป็นเงินรายได้ 56.46 ล้านบาท
แต่เมื่อเทียบกับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะได้รับประเมินเป็นมูลค่าเงินประมาณ 128.78 ล้านบาท (มูลค่าประหยัดค่าใช้จ่ายการใช้รถ, มูลค่าประหยัดเวลาในการเดินทาง) นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์ที่ประเมินมูลค่าเป็นเงินไม่ได้ เช่น ความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดมลพิษทางอากาศหน้าด่าน และแก้ปัญหาจราจรช่วงเทศกาล
หลังจากบอร์ด กทพ.เห็นชอบ จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบและลงนามในประกาศกระทรวงคมนาคม และนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
@ฐานะการเงินแกร่ง ผลดำเนินงานปี 65 มีกำไร 9,000 ล้านบาท ส่งเงินเข้าคลัง 3,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ กทพ.จะรายงานผลการดำเนินการประจำปี 2565 ต่อที่ประชุมบอร์ด กทพ. โดยมีกำไรสุทธิ 9,000 ล้านบาท สูงกว่าปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 8,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ล้านบาท และทำให้สามารถส่งเงินรายได้เข้าคลังได้มากขึ้น เป็น 3,000 ล้านบาท จากปี 2564 จำนวน 2,800 ล้านบาท สะท้อนถึงสถานการณ์ในการดำเนินงานที่ดีขึ้น ฐานะการเงินมั่นคง
และสามารถบริหารจัดการรายได้ของทางพิเศษสายฉลองรัช และทางพิเศษสายบูรพาวิถี นำจ่ายผลตอบแทนให้กองทุน TFF ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ กทพ.จะรายงานเรื่องผลการทบทวนโครงการ ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีความเห็นว่าควรก่อสร้างช่วง N1 และ N2 พร้อมกัน และมีประเด็นความคุ้มค่าทางการเงิน โดยให้ กทพ.ใช้เงินกู้ดำเนินการก่อสร้าง N2 แทนเงินจากกองทุน TFF เพื่อลดต้นทุนทางการเงินโดยให้โยกเงินจากกองทุน TFF ที่เหลือปัจจุบันประมาณ 14,700 ล้านบาท ไปใช้ก่อสร้างในโครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย (จตุโชติ-ลำลูกกา) แทน เนื่องจากเห็นว่าทางด่วนฉลองรัชส่วนต่อขยายจะก่อสร้างได้ก่อน เป็นการใช้เงิน TFF เกิดประสิทธิภาพมากกว่าการถือไว้นานๆ
กทพ.จะรายงานบอร์ดเพื่อยืนยันถึงเหตุผลในการก่อสร้างช่วง N2 ก่อน หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนเสนอกระทรวงคมนาคม และชี้แจงยืนยันต่อ สศช.เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ทั้งนี้ เหตุผลที่ควรเร่งก่อสร้างช่วง N2 ก่อนเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า และหากยิ่งล่าช้าต่อไปค่าก่อสร้างอาจจะเพิ่มขึ้นและไม่คุ้มค่าในการลงทุน