xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.ลุยผุดทางด่วน 2 ชั้นวงเงิน 3 หมื่นล้าน ทะลวงคอขวดแก้รถติด"งามวงศ์วาน-พระราม 9"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทพ.ลุยศึกษาผุดทางด่วน 2 ชั้น “งามวงศ์วาน-พระราม 9” 17 กม. วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ออกแบบเสร็จ ธ.ค. 65 จ่อเปิดโต๊ะเจรจา BEM ลงทุนก่อสร้าง แก้คอขวดทางด่วนขั้นที่ 2 คาด มิ.ย. 66 ชง ครม.อนุมัติ

วันที่ 23 พ.ย. 2565 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) ภายใต้งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 เพื่อนำเสนอความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงการ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการ ขอบเขตการศึกษา ตลอดจนข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการ พร้อมกันนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้เข้าร่วมประชุมร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างข้อเสนอโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายสุรเชษฐ์เปิดเผยว่า กทพ.อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมและเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กม. โดยเฉพาะต่างระดับพญาไท ซึ่งประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจากมีปริมาณจราจรเฉลี่ยกว่า 4 แสนคัน/วัน ในขณะที่เส้นทางมีความจุประมาณ 3 แสนกว่าคัน/วัน ทำให้ต้องรับภาระด้านการจราจรทั้งหมดจากความต้องการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้บนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในและชั้นกลาง

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 มีมติรับทราบผลการศึกษาโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบนทางด่วนในภาพรวมทั้งระบบ ตามที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบโดย กทพ.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา กลุ่มบริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ มีระยะเวลาการศึกษาประมาณ 450 วัน (มิ.ย. 65-ส.ค. 66) ซึ่งคาดว่าจะสรุปผลทั้งหมดภายในครึ่งแรกปี 2566 โดยจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.พิจารณา และเสนอ ครม.เห็นชอบในเดือน มิ.ย. 2566

ในขณะเดียวกัน จะนำเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 และได้รับความเห็นชอบปลายปี 2566

ในการศึกษาจะดูความเป็นไปได้ทางวิศวกรรม ความคุ้มค่าทางการเงิน รูปแบบ การก่อสร้าง การลงทุน พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ได้รับผลกระทบทั้งระหว่างการก่อสร้าง (ก่อสร้าง 4 ปี) และหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ เนื่องจากเมื่อมีทางด่วนชั้นที่ 2 ลักษณะทางกายภาพจะเปลี่ยนไป


ผู้ว่าฯ กทพ.กล่าวว่า เบื้องต้นโครงการมีมูลค่าลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาทโดยต้องก่อสร้างซ้อนบนโครงข่ายทางด่วนปัจจุบันบางช่วงมีความสูงถึง 19 เมตรจึงมีค่าลงทุนสูงและก่อสร้างค่อนข้างยาก ในขณะที่ปริมาณจราจรจะแบ่งมาจากผู้ใช้ทางด่วนเดิมจึงประเมินว่าผลตอบแทนการเงินอาจไม่สูงมาก โดยมี EIRR ประมาณ 16% แต่เป้าหมายหลักคือต้องการแก้ปัญหาจราจร ดังนั้นการดำเนินการรูปแบบใดต้องพิจารณาในทุกมิติอย่างครบถ้วน

ขณะนี้มี 2 ทางเลือกในการดำเนินการ คือ 1. กทพ.ดำเนินการก่อสร้างเองโดยใช้เงินกู้ 2. ให้เอกชนมาร่วมลงทุน และจัดเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งแนวทางที่ 2 ต้องพิจารณากรณีมีเอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งอาจจะกระทบต่อการบริการ และซับซ้อนกับสัญญาสัมปทานของทางด่วนเดิม ดังนั้น จะต้องนำข้อดีข้อเสีย หารือต่อผู้มีอำนาจพิจารณา

ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการคือ เจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้ก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 และเก็บค่าผ่านทาง โดยมีการเจรจาขยายสัญญาสัมปทานเดิมที่เหมาะสม

“ทางด่วน 2 ชั้น จะเป็นการแยกจราจรบริเวณจุดทางแยกให้ชัดเจน แก้ปัญหาจราจรตรงจุดแบบเบ็ดเสร็จ ตรงต่างระดับพญาไท (แยกตัว Y) คาดว่าประชาชนจะตอบรับโครงการ ส่วนการออกแบบจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2565 จากนั้นจะเข้าสู่การเจรจาตามแนวทางการศึกษา โดยจะสรุปและนำเสนอบอร์ด กทพ.และ ครม.พิจารณาต่อไป”

พื้นที่ศึกษาครอบคลุมใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตดินแดง และเขตห้วยขวาง

แนวสายทางเหนือ-ตะวันออก (ประชาชื่น-พญาไท-อโศก) มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน เลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออกบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไทผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสันและมีจุดสิ้นสุดโครงการที่บริเวณหลังด่านเก็บค่าผ่านทางอโศก 4 รวมระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร

โดยโครงการจะยกระดับซ้อนบนทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2 ) มีขนาด 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 แห่ง คือ ด่านประชาชื่น และด่านมักกะสัน

มีทางขึ้น 3 แห่ง ได้แก่ งามวงศ์วาน (ขาเข้าเมือง), บางซื่อย่านพหลโยธิน (ขาเข้าเมือง), อโศก (ขาเข้าเมือง) มีทางลงสู่ทางด่วน 4 แห่ง ได้แก่ งามวงศ์วาน (ขาออกเมือง) บางซื่อ ย่านพหลโยธิน (ขาออกเมือง) มักกะสัน (ขาออกเมือง) อโศก (ขาออกเมือง)






กำลังโหลดความคิดเห็น