ผู้จัดการรายวัน 360 - ฟันธงปี 66 สถานการณ์อีเวนต์กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง อินเด็กซ์ฯ วางหมากตัวใหม่จัดงานแฟร์เข้าตีตลาดซาอุดีอาระเบีย หลังไทยกลับมาฟื้นความสัมพันธ์อีกครั้ง เกมใหม่หลังโควิดพร้อมอิงตลาดท่องเที่ยวมากขึ้น ปักธงรายได้กลุ่มโอนครีเอชันเป็นหลักสู่การสร้างการเติบโตระยะยาว มั่นใจจบปี 65 รายได้ปิดที่ 954 ล้านบาท ส่วนปี 66 กลับมาทะลุ 1.2 พันล้านบาทอีกครั้ง หลังเจอโควิดถล่มมา 2-3 ปี
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมรายได้ของอินเด็กซ์ปี 2565 นี้คาดว่าจะปิดที่ 954 ล้านบาท หรือโตจากปีก่อน 60% ซึ่งเกิดจากปีนี้สถานการณ์โควิดคลี่คลาย ตลาดอีเวนต์กลับมาฟื้นตัวในไตรมาสสามเป็นต้นมา และกลับมาเต็มที่ในไตรมาสสี่ จากไตรมาส 1 ยังไม่ดี และไตรมาสสองก็ยังไม่กลับมา บวกกับอินเด็กซ์หันมาเน้นเรื่องโอนโปรเจกต์มากขึ้น จึงทำให้ผลประกอบการปีนี้กลับมาดีขึ้น
ทั้งนี้ ตัวเลขผลประกอบการ 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย. 65) อินเด็กซ์ทำได้ 624.48 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. มาร์เกตติ้งเซอร์วิส 262.84 ล้านบาท, 2.กลุ่มครีเอทีฟบิสิเนส ดีเวลลอปเมนต์ 239.48 ล้านบาท, 3. กลุ่มโอนครีเอชัน 140. 46 ล้านบาท ดังนั้นถึงสิ้นปีเชื่อว่าจะกลับมามีรายได้เฉียด 1,000 ล้านบาทได้
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า อินเด็กซ์พร้อมเดินหน้าสร้างแคมเปญใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อตอกย้ำความเป็น Creative Business Solutions ผ่านกลยุทธ์ Hybrid Experience ที่เน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลอันทันสมัย และเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นเอง เพื่อทำให้งานอีเวนต์ของเรานั้นแปลกใหม่ส่งต่อประสบการณ์อันพิเศษน่าจดจำไปยังผู้ชม
สำหรับแผนในปี 2566 จะมุ่งเน้น 4 เป้าหมายหลัก คือ 1. เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงพัฒนาเทรนด์ Metaverse, 2. การสร้างสรรค์ประสบการณ์และจินตนาการที่แปลกใหม่อย่างไร้ขีดจำกัด ตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ ไอเดีย แนวคิด นวัตกรรมไปถึงเรื่องของมรดกทางวัฒนธรรม ผ่านงานอีเวนต์ในช่วงเวลาต่างๆ มากถึง 18 โปรเจกต์, 3. มุ่งบุกตลาดเอเชีย 7 ประเทศเป้าหมายหลัก คือ ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, สิงคโปร์, คาซัคสถาน, ซาอุดีอาระเบีย, กัมพูชา และประเทศไทย และ 4. พร้อมเดินหน้าจับกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักหลังเปิดประเทศ
“ทิศทางการดำเนินธุรกิจจากนี้จะให้ความสำคัญต่อกลุ่มโอนครีเอชัน หรือโอนโปรเจกต์มากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับตลาดท่องเที่ยว เช่นปีหน้าในส่วนของงานเทรดแฟร์จะมี 4 งาน เพิ่มขึ้นมาใหม่ 2 งาน คือ ที่คาซัคสถาน และซาอุดีอาระเบีย ประเทศละ 1 งาน โดยที่ซาอุฯ ใช้ชื่อ ไทยแลนด์ เมกกะ แฟร์ & เฟสติวัล ด้วยการรวมทุกอย่างของไทยไปจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็น ท่องเที่ยว, อินเวสต์เมนต์, ซอฟต์เพาเวอร์ด้านต่างๆ อย่าง มวยไทย, อาหาร โดยเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบ และเฮลท์ แอนด์ เวลเนส เป็นต้น และจะใช้ชื่อนี้จัดเทรดแฟร์ในการบุกตลาดกลุ่มประเทศอาหรับต่อไป ทั้งนี้อินเด็กซ์ถือเป็นเจ้าแรกของไทยที่ไปจัดงานเทรดแฟร์ในซาอุดีอาระเบียที่ใช้พื้นที่การจัดงานมากที่สุด ขณะที่งานนี้จะมีขึ้นช่วงไตรมาสสี่ ปี 2566” นายเกรียงไกร กล่าว
อย่างไรก็ตามภาพรวมตลาดอีเว้นท์ปีนี้ถือว่าพ้นน้ำแล้วหรือทั้งปีน่าจะทำได้ 7,000-8,000ล้านบาทคิดเป็น 50%ของมูลค่าตลาดในปี 2019 (ก่อนจะมีโควิด)ส่วนในปี 2566มั่นใจว่าจะกลับมา 100%แต่อย่าลืมว่าช่วงโควิดที่ผ่านมาดิจิตอลได้เข้ามาแทนที่อีเว้นท์โดยเฉพาะอีเว้นท์ประเภทการจัดประชุมสัมมนาไปแล้วบวกกับผู้ประกอบรวมถึงผู้จัดงานก็มีล้มหายไปบ้างดังนั้นปีหน้ามูลค่าตลาดอีเว้นท์จึงอาจจะทำได้เพียง 70-80%ของ 15,000ล้านบาทที่เคยทำไว้ก่อนเกิดโควิด
ในส่วนของอินเด็กซ์ตั้งเป้าว่าในปี 2566จะทำรายได้อยู่ที่ 1,295ล้านบาทโตขึ้น 35%แบ่งเป็นมาร์เก็ตติ้งเซอร์วิส 51%ครีเอทีฟบิซิเนสดีเวลลอปเม้นท์ 21%และโอนครีเอชั่น28%หรือในปีหน้าจะมีกำไร 116.37ล้านบาทโตขึ้น 225%ซึ่งในครั้งนี้อินเด็กซ์พร้อมกลับมาเตรียมตัวยื่นไฟลิ่งเพื่อเข้าตลาดอีกครั้งในช่วงไตรมาสสี่ปี2567 หลังจากชะลอแผนเข้าตลาดไป 2-3ปีจากสาเหตุของโควิด-19ที่เกิดขึ้น.