“รฟท.-ตำรวจสอบสวนกลาง” MOU ร่วมแก้ไขและป้องกันอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟทั่วประเทศ สร้างความเชื่อมั่น มาตรฐานดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสารปีละไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน คาดเตรียมรองรับยุบทิ้งตำรวจรถไฟในอีก 1 ปี
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และพลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อดูแลยกระดับความปลอดภัย ป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. เปิดเผยว่า ความร่วมมือนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของรถไฟ ที่จะช่วยให้ประชาชนและผู้โดยสารมีความอุ่นใจมากขึ้นในการใช้บริการ สอดคล้องกับนโยบายการรถไฟฯ ที่ให้ความสำคัญต่อการบูรณาการความร่วมมือกับทุกฝ่าย ในการยกระดับมาตรฐานการให้บริการที่ดีขึ้นในทุกมิติ รองรับการให้บริการแก่ผู้โดยสารทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ที่ใช้บริการรถไฟไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคนต่อปี ให้ได้รับความสะดวกสบาย เดินทางได้อย่างปลอดภัย
สำหรับบันทึกความเข้าใจครั้งนี้มีระยะความร่วมมือเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งทางการรถไฟฯ และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบูรณาการดังกล่าว จึงได้ร่วมกันสนับสนุน แลกเปลี่ยน วางแผน ป้องกัน ปราบปรามหรือแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟร่วมกัน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลคนร้าย ผู้ก่อเหตุ หรือผู้ต้องสงสัย เช่น ข้อมูลระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟทุกรูปแบบ ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้โดยสาร ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาใช้บริการ ตลอดจนปิดช่องปัญหาการเกิดอาชญากรรม การโจรกรรมทรัพย์สินของการรถไฟฯ รวมถึงปัญหาอาชญากรรมในรูปแบบอื่นๆ
“การรถไฟฯ เชื่อมั่นว่าการลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับการดูแลมาตรฐานความปลอดภัยการขนส่งทางรางของประเทศ รวมถึงลดปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟทุกพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ทั้งชาวไทย นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางของภูมิภาค ที่มีการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยต่อไป”
รายงานข่าวระบุว่า หลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 โดยสาระสำคัญมาตรา 163 มีการระบุ ยุบเลิก กองบังคับการตำรวจรถไฟ ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อ 17 ตุลาคม 2565 ซึ่ง รฟท.ได้หารือร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางรองรับในด้านการดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร หลังยุบตำรวจรถไฟตาม พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ ซึ่งการทำเอ็มโอยูกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเป็นส่วนหนึ่งของแผนรองรับ เนื่องจากตำรวจสอบสวนกลางเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจดูแลทั่วประเทศ ส่วนแนวทางปฏิบัติหลังจากนี้คาดว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ การดูแลผู้โดยสาร และการปราบปรามตรวจจับอาชญากรรมเกิดขึ้นทั้งภายในขบวนรถ บริเวณสถานีรถไฟ จะอยู่ภายใต้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ส่วนเส้นทางรถไฟทั่วประเทศและสถานีที่อยู่ต่างจังหวัดอยู่ระหว่างการหารือรูปแบบที่เหมาะสม