"แท็กซี่" ขนม็อบกดดันปรับค่าโดยสาร "คณะทำงานฯ" เคาะปรับขึ้นรถใหญ่ สตาร์ท 40 บาท ปรับเพดานตามระยะทางใหม่ ชง "ศักดิ์สยาม" ภายใน 2 สัปดาห์ ยึดสูตร TDRI เพิ่มเฉลี่ย 7.34% สอดคล้องดัชนีผู้บริโภค (CPI)
นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้คณะกรรมการบริหารร่วม 4 สมาคมแท็กซี่ และสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย เข้าพบ เพื่อสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565 ถนนราชดำเนิน กลุ่มผู้ประกอบการรถแท็กซี่จำนวนกว่า 200 คน นำโดย นายศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย พร้อมด้วย 5 สมาคม 1 สมาพันธ์ และ 1 กลุ่ม ประกอบด้วย สมาคมประสานงานรถรับจ้างสุวรรณภูมิ สมาคมผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะ สมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า สมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย สมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย และกลุ่มแท็กซี่ทวงคืนความยุติธรรม ร่วมฟังคำตอบจากกระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เกี่ยวกับความคืบหน้าการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่)
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทน ให้คณะกรรมการบริหารร่วม 4 สมาคมแท็กซี่ และสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทยเข้าพบ เพื่อสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าโดยสาร โดยมี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ
นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีความเห็นใจทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ขับรถแท็กซี่และประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่ง รมว.คมนาคมมีความห่วงใย และเน้นย้ำให้ดำเนินการช่วยเหลือคนทุกกลุ่มที่เดือดร้อนด้วยความเป็นธรรม และภายใต้กรอบของกฎหมาย จึงสั่งการให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยให้มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการน้อยที่สุด
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกพร้อมรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ทั้งนี้ คณะทำงานพิจารณาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI - METER) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานคณะทำงาน ได้นำข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารร่วม 4 สมาคมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการในเขตสนามบิน พร้อมทั้งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงต้นทุนในการขับรถแท็กซี่ที่ทาง TDRI ได้วิเคราะห์ มารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่จากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผู้แทนภาคประชาชน และผู้ขับรถแท็กซี่กลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับรถแท็กซี่ส่วนบุคคล และกลุ่มสหกรณ์ผู้ขับรถแท็กซี่
@เคาะปรับขึ้นรถใหญ่ สตาร์ท 40 บาท ชง "ศักดิ์สยาม" ภายใน 2 สัปดาห์
ในภาพรวมที่ประชุมเห็นพ้องด้วยกับการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป และคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ดังนั้น คณะทำงานฯ จึงได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าโดยสารที่ TDRI นำเสนอ โดยอัตราดังกล่าวจะทำให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.34 ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หากแต่ยังไม่ตรงต่อความต้องการของกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ที่มาเรียกร้องในวันนี้
ที่ประชุมจึงได้ทำความเข้าใจกับกลุ่มแท็กซี่ดังกล่าวถึงอัตราที่จะปรับเพิ่ม โดยยึดความเห็นส่วนใหญ่ของตัวแทนภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องการให้การปรับอัตราค่าโดยสารในครั้งนี้ทำให้ผู้ขับรถแท็กซี่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และมีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการน้อยที่สุด โดยหลังจากนี้กรมการขนส่งทางบกจะเร่งดำเนินการในเรื่องของเอกสารข้อกฎหมายการประกาศใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ และดำเนินการส่งเรื่องต่อมายังกระทรวงคมนาคมภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้กระบวนการของการประกาศใช้รวดเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการหารือกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ที่มาชุมนุมได้เข้าใจและยอมรับในอัตราค่าโดยสารตามมติคณะทำงานฯ ซึ่งหลังจากการประกาศใช้อัตราค่าโดยสารใหม่แล้ว กรมการขนส่งทางบกจะแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ร่วมกับที่ปรึกษาที่มีองค์ความรู้ มีข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน เพื่อพิจารณาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อไป
สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ผู้ประกอบการแท็กซี่ได้เสนออัตราค่าโดยสารใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ผู้ขับรถแท็กซี่ประกอบอาชีพอยู่ได้ ดังนี้ 1. กิโลเมตร (กม.) ที่ 0-2 รถเล็ก 40 บาท รถใหญ่ 45 บาท 2. กม.ที่ 3-10 รถเล็ก 8 บาท รถใหญ่ 8.50 บาท 3. กม.ที่ 11-20 รถเล็ก 9 บาท รถใหญ่ 9.50 บาท 4. กม.ที่ 21-40 รถเล็ก 10 บาท รถใหญ่ 10.50 บาท 5. กม.ที่ 41-60 รถเล็ก 11 บาท รถใหญ่ 11.50 บาท 6. กม.ที่ 61 ขึ้นไป รถเล็ก 12 บาท รถใหญ่ 12 บาท 7. การเคลื่อนตัวผิดปกติวิสัย 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปรับเป็น 3 บาทต่อนาที 8. การจ้างผ่านท่าอากาศยานให้เรียกเก็บเพิ่ม รถเล็ก 75 บาท รถใหญ่ 95 บาท และ 9. การจ้างผ่านศูนย์การสื่อสารหรือระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ให้เรียกเก็บเพิ่ม 35 บาท
ด้าน ขบ.กับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอปรับอัตราค่าโดยสารในราคาที่เหมาะสม ดังนี้ ระยะทาง 1 กม.แรก รถเล็ก 35 บาท รถใหญ่ 40 บาท ระยะทาง 2-10 กม. รถเล็ก กม.ละ 6.5 บาท รถใหญ่ กม.ละ 6.5 บาท ระยะทาง 11-20 รถเล็ก กม.ละ 7 บาท รถใหญ่ กม.ละ 7 บาท, ระยะทาง 21-40 กม. รถเล็ก กม.ละ 8 บาท รถใหญ่ กม.ละ 8 บาท ระยะทางเกินกว่า 41-60 กม. รถเล็ก กม.ละ 8.5 บาท รถใหญ่ กม.ละ 8.5 บาท ระยะทาง 61-80 กม. รถเล็ก กม.ละ 9 บาท รถใหญ่ กม.ละ 9 บาท ระยะทาง 81 กม.ขึ้นไป รถใหญ่ กม.ละ 10.5 บาท รถใหญ่ กม.ละ 10.5 บาท ค่ารถติด กรณีรถเคลื่อนที่ได้ช้ากว่า 6 กม.ต่อ ชม. รถเล็ก กม.ละ 3 บาท รถใหญ่ กม.ละ 3 บาท