ม.หอการค้าไทยประเมินฟุตบอลโลก 2022 จะมีเงินสะพัด 75,815 ล้านบาท เพิ่ม 24.2% แต่เป็นเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแค่ 18,561 ล้านบาท ที่เหลือ 57,253 ล้านบาทใช้ในการพนันบอล มองเงินใช้ซื้อลิขสิทธิ์ 1,600 ล้านบาทคุ้มค่า ช่วยทำบรรยากาศคึกคัก และคืนความสุขให้ประชาชน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ว่า ปีนี้จะมีเงินสะพัด 75,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.2% ลดลงจากฟุตบอลโลกปี 2018 ที่มีเงินสะพัด 76,897 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นวงเงินที่ใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ เช่น ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค สังสรรค์ ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์รับสัญญาณ มูลค่า 18,561 ล้านบาท ส่วนอีก 57,253 ล้านบาท อยู่นอกระบบเศรษฐกิจหรือใช้ในการพนันบอล แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงบอลโลกปี 2018 ที่มีมูลค่า 58,995.83 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี
ทั้งนี้ หากมีการถ่ายทอดสดจะทำให้บรรยากาศเทศกาลบอลโลกคึกคัก มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เพราะจะมีกระแสติดตามผลบอลโลก ไปรับประทานอาหารนอกบ้าน การสังสรรค์ ซื้อเสื้อฟุตบอลมาสวมใส่ รวมไปถึงร้านอาหาร ผับ บาร์ ร้านขายอุปกรณ์กีฬา และยังรวมไปถึงสื่อสารมวลชน ยูทูปเบอร์ ที่จะมีการรายงานข่าวสาร เกิดการใช้จ่ายในช่วงฟุตบอลโลก แต่หากไม่มีการถ่ายทอดสด ก็จะทำให้เงินหายไปในระบบเศรษฐกิจ 5,000-10,000 ล้านบาท
“มองว่าเม็ดเงิน 1,600 ล้านบาทที่จะต้องจ่ายเพื่อซื้อลิขสิทธิ์เห็นว่าคุ้มค่าในแง่ของเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจจะเกิดการหมุนเวียน ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว และยังเป็นการคืนความสุขให้กับประชาชนเช่นเดียวกับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่างๆ โครงการคนละครึ่ง การส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยถ้าถามผม เห็นว่าคุ้มค่า เพราะจากสถิติที่ผ่านมา ยังไม่เคยไม่ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก” นายธนวรรธน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งความคึกคักในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปี จะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ขยายตัว 4-4.5% ส่งผลให้จีดีพีทั้งปีขยายตัวตามเป้าที่ 3-3.5%