การท่าเรือฯ ลงนามบันทึกข้อตกลง "หัวเว่ย" เป็นที่ปรึกษา ออกแบบ นำเทคโนโลยี 5G พัฒนาท่าเรือกรุงเทพสู่ท่าเรืออัจฉริยะ (Automation Port) และท่าเรือสีเขียว (Green Port) เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยมีนายเควิน เฉิง ประธานกลุ่มธุรกิจเอนเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมคิดค้นเทคโนโลยีพัฒนาธุรกิจท่าเรือ พร้อมด้วยนายเรืองศักดิ์ บำเหน็จพันธุ์ รองผู้อำนวยการ กทท.สายเทคโนโลยีสารสนเทศ และนายหลู หย่งผิง รองประธานอาวุโสและหัวหน้าคณะผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจคัสตอมแอนด์พอร์ต บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยานฯ เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านธุรกิจใหม่ รวมทั้งคิดค้นบริการดิจิทัลที่ทันสมัยและการถ่ายทอดความรู้ ทักษะความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ ณ ห้อง 101 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
สำหรับขอบเขตความร่วมมือดังกล่าวเป็นการยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจดิจิทัลและพัฒนาบริการโซลูชันที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการคิดค้นเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถนำมาใช้กับกิจการท่าเรือและธุรกิจด้านโลจิสติกส์ที่เป็นประโยชน์ในการให้บริการของ กทท.สู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะที่มีมาตรฐานด้านเทคโนโลยีระดับโลก ด้วยการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานและการให้บริการของ กทท. ตลอดจนการให้คำปรึกษา วางแผน และออกแบบก่อสร้างท่าเรืออัจฉริยะ การส่งเสริมและดำเนินการให้บริการโซลูชัน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขั้นสูง (ICT) เข้ามาใช้พัฒนาโครงการต่างๆ ของ กทท.ในอนาคต
เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Smart Dry Port) เป็นต้น พร้อมทั้งเพิ่มทักษะการเรียนรู้ กิจกรรมการฝึกอบรมเพื่อสาธิตระบบการทำงานด้านเทคโนโลยี 5G และนวัตกรรมดิจิทัลอื่นๆ รวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศในการมุ่งสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะและท่าเรือสีเขียว โดยทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งต้นแบบการกำกับดูแลพันธมิตรทางธุรกิจเชิงกลยุทธ์และกลุ่มนวัตกรรมร่วม พร้อมกำหนดแนวทางการติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอต่อไป
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามใน MOU ระหว่างการท่าเรือฯกับหัวเว่ยในครั้งนี้เป็นความร่วมมือซึ่งมีระยะเวลา 3 ปี โดยหัวเว่ยจะให้คำแนะนำในการศึกษาและออกแบบการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพสู่ท่าเรืออัจฉริยะ (Automation Port) และท่าเรือสีเขียว (Green Port) จากประสบการณ์ของหัวเว่ยในการนำเทคโนโลยี 5G ใช้ในท่าเรืออัจฉริยะในประเทศจีนมาแล้ว ซึ่งทางหัวเว่ยถือว่ามีความพร้อมด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยมีพนักงานทั่วโลก ประมาณ 200,000 คน
สำหรับการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพเป็นท่าเรืออัจฉริยะจะไม่กระทบต่อการจ้างงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่จะเป็นการทำให้พนักงานการท่าเรือทำงานได้ดีขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น