xs
xsm
sm
md
lg

SCGP กำไรงวด 9 เดือน 5.3 พันล้าน วูบ 13% มั่นใจทั้งปีโกยรายได้ตามเป้า 1.5 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



SCGP แจงกำไร 9 เดือนแรกอยู่ที่ 5,351 ล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เหตุต้นทุนวัตถุดิบและราคาพลังงานสูง มั่นใจรายได้ทั้งปีเข้าเป้า 1.5 แสนล้านบาท พร้อมหั่นงบลงทุนปีนี้เหลือ 1.6 หมื่นล้านบาท หลังดีล M&P บางโครงการต้องเลื่อนปิดไปเป็นปีหน้าแทน
 
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทมั่นใจมีรายได้จากการขายตามเป้าหมายที่วางไว้ 150,000 ล้านบาท โดย 9 เดือนแรกของปี 2565 SCGP มีรายได้จากการขาย 112,559 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องภายใต้กลยุทธ์การควบรวมกิจการกับพันธมิตร (M&P) รวมถึงความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นภายหลังที่มีการเปิดประเทศและสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และมี EBITDA เท่ากับ 15,848 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสำหรับงวด 5,351 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นและราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง 

โดยภาพรวมของเศรษฐกิจอาเซียนช่วงไตรมาส 4/2565 จนถึงต้นปีหน้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการบริโภคภายในประเทศ การเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการสินค้าที่จำเป็นสำหรับการบริโภค เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงสินค้าอุปโภคอื่นๆ สำหรับเทศกาลต่างๆ ในช่วงสิ้นปี ซึ่งธุรกิจบรรจุภัณฑ์ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะตอบสนองความต้องการซื้อสินค้าของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น สำหรับด้านการส่งออกของอาเซียน ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าคงทนลดลง รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้ายังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นบริษัทจึงหันไปเจาะตลาดแถบเอเชียใต้และแอฟริกาเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาพลังงานทั่วโลกยังทรงตัว อย่างไรก็ตาม ค่าขนส่งและต้นทุนวัตถุดิบ โดยเฉพาะวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล มีการปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565


นายวิชาญกล่าวว่า การใช้งบลงทุนในปีนี้จะอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าที่บริษัทเคยตั้งเป้าไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท โดย 9 เดือนแรกปีนี้บริษัทใช้งบลงทุนไปแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท สาเหตุที่ปีนี้ใช้งบลงทุนต่ำกว่าที่ตั้งเป้าเนื่องจากบางโครงการยังไม่สามารถปิดดีล M&P ได้ทัน ทำให้ต้องขยับเลื่อนออกไปเป็นปีหน้าแทน นอกจากนี้ โครงการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ คอมเพล็กซ์แห่งใหม่ที่ Vinh Phuc ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม กำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ 3.7 แสนตัน/ปี มูลค่าการลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท จะเลื่อนการผลิตเชิงพาณิชย์ออกไป 1 ปีจากเดิมจะเริ่มดำเนินการผลิตในช่วงต้นปี 2567 ดีเลย์ไปเป็นปี 2568 แทน เนื่องจากโครงการนี้เดิมตั้งขึ้นเพื่อป้อนตลาดเวียดนามตอนเหนือและจีนตอนใต้ แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากนโยบายซีโร่โควิด ทำให้บริษัทต้องพิจารณาตลาดจีนใหม่

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 บริษัทวางงบลงทุนไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีบางโครงการได้เลื่อนปิดดีล M&P มา และบริษัทสนใจที่จะ M&P ธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งวางงบด้านวิจัยและพัฒนาต่อเนื่องด้วย

ขณะเดียวกัน SCGP ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ ในการทำธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำกัดประเภทกระดาษและพลาสติกอีกต่อไป สามารถขยายไปสู่บรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นๆ เช่น ขวดแก้ว หรือโลหะ เป็นต้น


ขณะเดียวกัน พร้อมเดินหน้ากลยุทธ์เพื่อรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ได้แก่ 1. มุ่งการเติบโตด้วย M&P ผสานความร่วมมือเสริมแกร่งธุรกิจ (Synergy) ทั้งด้านการขยายฐานลูกค้า ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบรับความต้องการที่หลากหลายและครอบคลุม การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรมด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์ การจัดหาวัตถุดิบร่วมกัน และร่วมกันพัฒนาช่องทางขยายลูกค้าไปยังภูมิภาคใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโตสูง อย่างการลงทุนในบริษัท Jordan Trading Inc. (Jordan) สหรัฐอเมริกา เมื่อไตรมาสที่ 3 นี้ ได้มีการผสานการดำเนินงานร่วมกันกับ Peute Recycling B.V. (Peute) ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขยายฐานการจัดหาวัตถุดิบรีไซเคิลในต่างประเทศ ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบกล่องกระดาษใช้แล้วคุณภาพสูงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ช่วยเพิ่มคุณภาพกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษได้โดยตรง

2. บริหารต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมพัฒนานวัตกรรม เพิ่มโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ดำเนินการบริหารจัดการเงินสด งบประมาณการลงทุน (CAPEX) และการพิจารณาลงทุนตามกลยุทธ์อย่างเป็นระบบ รอบคอบ รัดกุม โดยล่าสุด SCGP ร่วมกับ 3 พันธมิตรผู้จัดจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นนำของไทย เพื่อนำผลิตภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จาก Deltalab ขยายตลาดในประเทศและภูมิภาคอื่นๆ เพื่อรองรับเทรนด์สุขภาพที่เติบโตสูง


3. ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแนวคิด ESG 4 Plus เพื่อโลกที่ยั่งยืน มุ่งสู่ Net Zero ที่ดำเนินงานตามแผน เพื่อก้าวสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 และ Go Green โดยเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 99.7 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น