xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยวดันดัชนีเชื่อมั่น SME ก.ย.เพิ่มขึ้น วอนรัฐพักชำระหนี้รับต้นทุนพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสว.เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือนกันยายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.9 เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สองจากปัจจัยบวกท่องเที่ยวฟื้นตัว มาตรการกระตุ้นแรงซื้อจากรัฐ ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าบวกต่อรับเทศกาลปีใหม่ มอง ดบ.ขาขึ้นกระทบปานกลาง วอนรัฐพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอก

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือน ก.ย. 65 เทียบกับเดือน ส.ค. 65 ว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 52.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้ที่อยู่ระดับ 51.2 และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยเพิ่มขึ้นทั้งภาคการค้า บริการ และเกษตร ซึ่งมีปัจจัยบวกมาจากกำลังซื้อในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดือน ส.ค.ที่อยู่ระดับ 18.7 ล้านคน ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 5 โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ทำให้แรงซื้อเพิ่มขึ้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 54.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.6 เนื่องจากผู้ประกอบการมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และคาดการณ์ยอดขายและการใช้บริการจะสูงในช่วงปลายปีเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับผู้ประกอบการมีความกังวลด้านต้นทุนของกิจการลดลง และคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนออกมาต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามผู้ประกอบการ SME ถึงภาระหนี้สินพบว่า กว่า 50% ไม่มีภาระหนี้สิน ส่วน 48.2% มีภาระหนี้ซึ่งกลุ่มธุรกิจขนาดกลางมีสัดส่วนภาระหนี้สินสูงสุด แหล่งเงินกู้ยืมที่ใช้จ่ายในกิจการ 75.5% มาจากสถาบันการเงิน และส่วนใหญ่กู้ยืมเพื่อลงทุนในกิจการ ขณะที่ผู้ประกอบการที่กู้ยืมนอกระบบ ส่วนใหญ่กู้ยืมจากเพื่อน/ญาติพี่น้อง และนายทุนเงินกู้ เพื่อนำไปใช้เป็นเงินหมุนเวียนที่ใช้จำนวนเงินไม่มากนัก

ผู้ประกอบการ SME กว่า 70% ยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้จนครบสัญญา แต่ยังมีผู้ประกอบการเกือบ 30% ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งอยู่ในธุรกิจภาคการเกษตรและภาคการค้ามากที่สุด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะสามารถชำระหนี้ได้ไม่เกิน 6 เดือนหากภาวะเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่แย่ลง และจากการประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร ผู้ประกอบการ SME ประเมินว่าภาระค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น 1-20% และจะส่งผลกระทบทางลบต่อธุรกิจในระดับปานกลาง (21-40%) ท่ามกลางต้นทุนโดยรวมที่ยังคงสูงขึ้น

สำหรับสิ่งที่ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คิดเป็น 33.1% คือ การพักชำระหนี้ (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) รองลงมาคือ ลดอัตราดอกเบี้ย 20.5% และขยายระยะเวลาชำระหนี้ 17.1% ตามลำดับ ส่วนผู้ประกอบการ SME ที่ไม่มีภาระหนี้สิน 24.4% มีแผนการกู้ยืมเงินในระบบสถาบันการเงินในอนาคต เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ โดยสิ่งที่ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ การจัดหาแหล่งเงินทุน/รูปแบบสินเชื่อที่ตรงตามลักษณะธุรกิจ รองลงมาคือ การงด/ลดค่าธรรมเนียมในการยื่นขอสินเชื่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น