xs
xsm
sm
md
lg

MUT ลุยปั้นเด็กไทยเข้าสู่โลกยานยนต์แห่งอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (MUT) โชว์จุดแข็งและผลงานด้านงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำจุดยืนและความสำเร็จจนได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนอันดับหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีที่สร้างวิศวกรและนวัตกรคุณภาพสูงออกสู่ภาคอุตสาหกรรมมาเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ มุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรรองรับเทรนด์การศึกษาให้ทันยุคของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ล่าสุดร่วมจับมือกับ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เซ็นลงนาม MOU เพื่อออกแบบพัฒนาและผลิตชุดฝึกยานยนต์ EV ระดับ Advance ให้แก่โรงเรียนอาชีวศึกษาของรัฐทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพช่างยนต์ EV ออกมารองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตที่กำลังเปลี่ยนถ่ายไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% อันเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก

จากการเติบโตมาในครอบครัวที่มีบิดาเป็นวิศวกรและนักวิชาการ และคุณตาที่เป็นทหาร ทำให้ ผศ.ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม หรืออาจารย์ตั้ว ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น สายเลือดโดยตรงของ ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้ซึมซับเรื่องราวต่างๆ ที่ค่อยๆ จุดประกายและเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเติบโตมาเป็นคนดีและเก่งเหมือนทั้งสองท่าน แต่ในเมื่อไม่ได้อยากเป็นทหาร จึงก้าวสู่เส้นทางอาชีพวิศวกร และอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จนปัจจุบันก้าวสู่ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (MUT) ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำความรู้ที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์มาพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ให้เติบโตเป็นบุคลากรด้านวิศวกรรมและผลิตนวัตกรที่มีคุณภาพมาช่วยกันขับเคลื่อน พัฒนาและยกระดับประเทศไทยจากที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว


ผศ.ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เปิดเผยว่า "เป็นเวลากว่า 33 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง มหาวิทยาลัย MUT ได้ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ของผู้บริหารรุ่นบุกเบิก คงไว้ซึ่งปณิธานที่มุ่งมั่นทำให้ MUT เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถผลิตวิศวกรและนวัตกรคุณภาพสูงจนเป็นที่ยอมรับและต้องการของตลาดแรงงานมาโดยตลอด เมื่อมาถึงผู้บริหารรุ่นปัจจุบันในยุคผมที่มารับช่วงงานต่อในบทบาทอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก็ยังคงสานต่อเจตนารมณ์และวิสัยทัศน์อันดีนี้อย่างแน่วแน่ และได้ต่อยอดแนวคิดของคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนากิจการของมหาวิทยาลัยให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในปัจจุบันและในอนาคต"

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนในขณะนี้ คือกระแสความนิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอนในอนาคต คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ EV (Electric Vehicle) หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% รวมถึงในประเทศไทยรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มีการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ MUT ตระหนักว่าประเทศไทยจำเป็นต้องผลิตช่างยานยนต์สายนี้เพื่อมารองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต อีกทั้ง MUT เองมีการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม EV มาอย่างต่อเนื่อง ในปลายปี 2564 ได้เซ็น MOU ร่วมกับสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยฯ จัดทำ “โครงการพัฒนาระบบนวัตกรรม” เพื่อวิจัยและออกแบบชุดฝึกยานยนต์สำหรับเสริมสร้างทักษะระดับพื้นฐานให้แก่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนทั่วประเทศ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้มีความรู้และทักษะที่พร้อมปฏิบัติงานจริงได้ในอนาคต


ขณะเดียวกัน MUT ก็ยังมุ่งหน้าทำงานวิจัยและพัฒนาชุดฝึกยานยนต์ EV อย่างต่อเนื่อง และได้มีการหารือกับบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าของไทย (BEV และ xEV Leader) ที่มีความชำนาญอย่างสูงในการพัฒนาผลิตช่างยานยนต์สายนี้ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จนนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ออกแบบ และผลิตชุดฝึกยานยนต์สมัยใหม่จากรถยนต์จริงในระดับ Advance และพัฒนาชุดบทเรียน บททดสอบเพื่อเสริมสร้างทักษะขั้นสูงให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาภาครัฐที่เรียนในสาขาวิชาชีพนี้

“การเซ็น MOU กับเกรท วอลล์ มอเตอร์ฯ และ สอศ.ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาและยกระดับความรู้และทักษะของผู้เรียนในสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐให้ทันกับเทคโนโลยียานยนต์ EV ในปัจจุบันและอนาคต หน้าที่หลักของ MUT คือการออกแบบพัฒนาและสร้างชุดฝึกยานยนต์ EV ระดับ Advance ดังนั้น MUT จึงเป็นตัวกลางในการประสานงานกับทั้งสององค์กร MUT ได้ส่งทีมนักวิจัยและคณาจารย์เข้าร่วมหารือเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ตลอดจนทักษะที่ต้องติดตั้งให้กับช่างเทคนิคและเข้าฝึกอบรมกับทีมช่างผู้ชำนาญการด้านยานยนต์ไฟฟ้า และวิศวกรของเกรท วอลล์ มอเตอร์ฯ และนำข้อมูลเหล่านั้นมาหารือกับ สอศ.อีกทางหนึ่ง เมื่อตกผลึกแนวคิดทั้งหมดแล้ว MUT จึงออกแบบและสร้างชุดฝึกให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการสร้างทักษะมืออาชีพ เพื่อใช้สอนนักเรียน นักศึกษาที่เรียนในสาขาช่างยนต์ให้ได้มีองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพช่างยานยนต์ไฟฟ้าได้ต่อไปในอนาคต และยังสามารถใช้เป็นพื้นฐานความรู้เพื่อศึกษาต่อเพื่อเป็นวิศวกรยานยนต์สมัยใหม่ต่อไป” ดร.ภานวีย์กล่าว


ปัจจุบันชุดฝึกยานยนต์เพื่อสร้างทักษะระดับเริ่มต้นที่ MUT ออกแบบและผลิตเองได้ถูกนำไปใช้ในวิทยาลัยเทคนิคของรัฐแล้วขณะนี้จำนวน 10 แห่ง ในอนาคตจะทำการผลิตเพิ่มขึ้นอีกเพื่อนำไปใช้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่ MUT สามารถนำนวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าไปต่อยอดและสร้างสรรค์ทั้งเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนองค์กรของภาครัฐและเอกชน อาทิ โครงการชุบชีวิตแบตเตอรี่เก่าที่ใช้ในรถยนต์ไฮบริดกลับมาใช้ใหม่ ซึ่ง MUT ได้ทำการทดสอบหลังเข้ากระบวนการพบว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด 80% (ขึ้นอยู่กับสภาพแบตเตอรี่ที่นำมาเข้ากระบวนการ) มีโครงการเปลี่ยนรถยนต์โดยสาร/ขนส่ง เครื่องยนต์สันดาบกลุ่มพาณิชย์ เช่น รถตู้ รถกระบะ รถสองแถวเล็ก ไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้สามารถประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในยุคที่เชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน MUT ไม่เพียงแต่มีผลิตภัณฑ์ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ยังมีงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการทหาร เช่น การผลิตหุ่นยนต์เพื่อเก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก D-EMPIR version 4 ที่ผลิตให้กับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และชุดฝึกจำลองการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เป็นต้น

“การบริการวิชาการแก่ชุมชนเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่ MUT คิดจะทำ โดยเราคิดที่จะเปิดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นๆ ให้ความรู้เรื่องแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจอู่ซ่อมรมยนต์ ช่างซ่อมรถ หรือบุคคลที่สนใจ เนื่องจากแบตเตอรี่เป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ซึ่งในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าแนวโน้มของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะมาแทนที่รถยนต์เครื่องสันดาปอย่างแน่นอน ดังนั้น การพัฒนาความรู้และเสริมทักษะให้ผู้ประกอบการรายย่อยและคนในชุมชน เพื่อเตรียมพร้อมรับกระแสการเติบโตของตลาด EV ได้อย่างยั่งยืนจึงเป็นภารกิจสำคัญที่ MUT ภูมิใจทำอย่างยิ่ง” ดร.ภานวีย์กล่าวสรุป


MUT มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา เพื่อก้าวให้ทันยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ควบคู่การตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และท่ามกลางกระแสยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรงในขณะนี้ MUT จึงได้เพิ่มหลักสูตรเสริมทักษะความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้า เข้าไปในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ดังนั้น นักศึกษาที่เรียนในสาขาเหล่านี้จะสามารถประกอบอาชีพเป็น EV Engineer ได้ โดยไม่ต้องเจาะจงเลือกเรียนด้านวิศวกรรมยานยนต์เท่านั้น

“ผมอยากทำให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็กแต่โดดเด่นด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำยอดนิยมด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศไทย” นี่คือจุดมุ่งหมายและความฝันของ ผศ.ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม ผู้บริหารรุ่นใหม่ในฐานะอธิการบดีคนปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
กำลังโหลดความคิดเห็น