รฟท.เปิดตัวสถานีอัจฉริยะ 5G แห่งแรกในอาเซียน”สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”กองทุนดีอีหนุนงบ 43 ล้านบาท จัดหาหุ่นยนต์นำทาง-รถเข็นอัจฉริยะและ AI เชื่อม CCTV 121 ตัว นำร่องอำนวยความสะดวก พร้อมระบบดูแลความปลอดภัย สแกนสิ่งผิดปกติป้องกันอาชญากรรม
วันที่ 21 ต.ค. 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานพิธีเปิดตัวต้นแบบสถานีอัจฉริยะ 5G (5G Smart Station) แห่งแรกในไทยและอาเซียน ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ยกระดับบริการล้ำสมัยเพื่อให้บริการประชาชน โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) สำนักงาน กสทช. บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่นเข้าร่วม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการนำร่องในการต่อยอดการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ด้านการส่งเสริมสถานีอัจฉริยะ 5G (5G Smart Station) ที่รฟท.เป็นผู้รับผิดชอบโครงการและได้ริเริ่มขึ้นนั้น มีความก้าวหน้าในการพัฒนาจนประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว โดยต้องขอขอบคุณคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เห็นความสำคัญและได้อนุมัติงบประมาณสำหรับใช้ดำเนินโครงการฯ นี้ รวมถึงพันธมิตรทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันพัฒนาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้เป็น 5G Smart Station ถือว่าเป็นต้นแบบสถานีอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี 5G เต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กระทรวงคมนาคมมุ่งมั่นพัฒนาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมเทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก ครอบคลุมทุกบริการ "ระบบราง" เชื่อมต่อทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยมีความโดดเด่นด้านการออกแบบให้เป็นสถานี "อารยสถาปัตย์" ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามหลัก Universal Design เน้นการให้บริการประชาชนในการเดินทางไปยังทุกจุดหมายด้วยความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้เล็งเห็นอัจฉริยภาพของเทคโนโลยี 5G ที่สามารถนำมาสร้างประโยชน์ให้ตอบโจทย์ประชาชนผู้ใช้บริการในยุคดิจิทัล โดยมุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงบริการ 5G ได้อย่างเท่าเทียม และสามารถช่วยเหลือนักเดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัยในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์มีระบบ 5G และเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัย รวมถึงโซลูชัน 5G ต่าง ๆ ที่พัฒนาร่วมกับ ทรู ซึ่งพร้อมให้บริการประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
หุ่นยนต์ต้อนรับ ให้บริการช่วยเหลือผู้โดยสาร ทั้งบริการข้อมูลการเดินทาง นำทางในสถานี แนะนำและเส้นทางการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถโต้ตอบได้แบบเรียลไทม์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมช่วยสอดส่องดูแลความปลอดภัยภายในสถานี
รถเข็นอัจฉริยะ มีระบบ Automation ให้บริการช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพ สามารถเคลื่อนที่ส่งไปยังพื้นที่เป้าหมายอัตโนมัติ ควบคุมง่ายด้วยระบบสัมผัสผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มีความปลอดภัยด้วยระบบเซ็นเซอร์แจ้งเตือนเมื่อเข้าใกล้สิ่งของต่าง ๆ และหยุดเมื่อถึงระยะที่ใกล้เกินกำหนด พร้อมปุ่มสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉินได้ทันที
ระบบปัญญาประดิษฐ์ สามารถเชื่อมต่อกล้องวงจรปิดได้ทั่วทั้งสถานี และในอนาคตจะเชื่อมต่อ ไปยังหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ประชาชนและผู้ใช้บริการ
@กองทุนดีอี หนุนงบ 43 ล้านบาท จัดหาหุ่นยนต์-รถเข็นอัจฉริยะ-AI เชื่อม CCTV 121 ตัว
นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า รฟท.กล่าวว่า รฟท.ได้รับการสนับสนุนงบจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 43 ล้านบาท ในการดำเนินการโครงการนำร่อง สถานีอัจฉริยะ 5G ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยรฟท.ได้จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร ในช่วงเริ่มต้น คือ 1. หุ่นยนต์ต้อนรับและนำทางจำนวน 6 ตัว 2. รถเข็นอัจฉริยะ จำนวน 7 ตัว 3. ติดตั้งระบบ AI เชื่อมกับกล้อง CCTV ของสถานีกลางบางซื่อจำนวน 121 ตัว ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง จากที่มี CCTV ทั้งหมดประมาณ 800 ตัว โดยระบบ AI จะสามารถวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูล ได้ทั้งด้านการอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร เช่น สแกนใบหน้าได้ กรณีเป็นอาชญากรที่มีการประสานข้อมูลไว้ในระบบ หรือ กรณีผู้โดยสาร ล้ำเข้าไปในพื้นที่หวงห้าม หรือล้ำเส้นเหลือง บริเวณชานชลา ที่อาจะไม่ปลอดภัย เมื่อกล้องจับภาพได้ จะเตือนไปยังศูนย์ควบคุมและแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าดูแล ได้อย่างทันเวลา
ซึ่งผู้โดยสารที่มาใช้บริการรถไฟสายสีแดง สามารถใช้บริการโครงการนำร่อง 3 รายการนี้ได้แล้ว และในอนาคตหากสถานีกลางบางซื่อ มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น เช่น ช่วงปลายปี 2565 จะมีการย้ายการเดินรถทางไกลเชิงพาณิชย์ มายังสถานีกลางบางซื่อ ก็จะขยายพื้นที่ไปยังโซนสถานีกลางบางซื่อในส่วนของรถไฟทางไกลต่อไป รวมถึงรฟฟท.จะมีการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการเป็นระยะๆ คาดว่าหากมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น รฟท.จะต้องจัดหาบริการที่อำนวยความสะดวกผู้โดยสารเพิ่มเติม
และยังมีแนวคิดในการพัฒนาระบบ 5G ไปช่วยในเรื่องการบำรุงรักษาต่างๆ เช่น การทำงานของระบบต่างๆ ลิฟต์ บันไดเลื่อน มีปัญหาตรงไหนอย่างไร ต้องเข้าซ่อมบำรุงก่อนที่จะเกิดชำรุด เป็นต้น
ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีพันธกิจในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึง สดช. มีแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G โดยการนำร่อง 5G Smart Station ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือเป็นโครงการสำคัญโครงการหนึ่งในแผนปฏิบัติการดังกล่าว อีกทั้ง สดช. เล็งเห็นถึงศักยภาพของศูนย์กลางการคมนาคมของประเทศไทยอย่าง “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ที่จะเป็นสถานีที่มีผู้คนสัญจรรายวันจำนวนมาก เราจึงได้ผนึกกำลังกับการรถไฟฯ
ซึ่งต้องขอขอบคุณการรถไฟฯ ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ที่ให้ความร่วมเป็นอย่างดี ตั้งแต่เริ่มต้นในการคิดรูปแบบบริการที่จะให้บริการแก่ประชาชน จนถึงพัฒนาบริการเหล่านั้นให้สามารถให้บริการประชาชนได้จริง ที่สำคัญสถานีอัจฉริยะ 5G ยังจะเป็นพื้นที่สำคัญในการเป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งหากมีภาคส่วนใดที่สนใจ สามารถทดลองใช้งานและนำไปสู่การต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้วยเทคโนโลยีอื่น ๆ บนโครงข่าย 5G ให้เหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินงานของตน หรือนำไปสู่การทำซ้ำได้ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรู ขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐ ที่ให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นในศักยภาพของเครือข่ายอัจฉริยะของทรู และให้ ทรู เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการที่มีความสำคัญระดับประเทศ กลุ่มทรู เราในฐานะให้ผู้ให้บริการเครือข่าย เราพร้อมที่จะให้บริการโครงข่าย 5G ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่เร็ว ครบ แรง ล้ำ และมีศักยภาพ เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ