xs
xsm
sm
md
lg

จับตา SCF ที่ปรึกษาต่างประเทศ กสทช. กับที่มา ประสบการณ์ และจำนวนพนักงาน กับงบประมาณ กสทช.!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่องคุณสมบัติ “ที่ปรึกษาอิสระต่างประเทศ” กสทช.จ้างศึกษาดีลควบรวมทรู-ดีแทค ส่อเค้าผิดกฎหมาย ไร้คุณสมบัติและประสบการณ์วิเคราะห์การรวมธุรกิจโทรคมนาคม จากการตรวจสอบข้อมูลสาธารณะ

แหล่งข่าวชี้จากการตรวจสอบที่ปรึกษาอิสระต่างประเทศในประเทศอังกฤษ พบดำเนินธุรกิจประกอบกิจการคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ สินทรัพย์บริษัทเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ต่ำกว่า 1 ล้านบาท จากรายงานที่เปิดเผยสาธารณะ มีผู้เป็นเจ้าของบริษัท 1 ราย และผู้บริหาร 1 รายเท่านั้น แต่มาทำหน้าที่วิเคราะห์การรวมธุรกิจมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการคัดเลือก ที่มาและประสบการณ์ของที่ปรึกษา เหตุใดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงไม่คำนึงถึงกรอบเวลาตามกฎหมาย จนอาจเกิดความเสียหาย

การที่ กสทช.มีมติเห็นชอบการจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศรายนี้ในวงเงิน 10 ล้านบาทตั้งแต่ 27 เมษายน 2565 และทำสัญญาจ้างเมื่อ 15 สิงหาคม 2565 ในวงเงิน 6 ล้านกว่าบาท ใช้เวลาเกือบ 4 เดือน เป็นการดึงเวลาให้ล่าช้าหรือไม่ ในการดำเนินการจ้าง ส่งรายงาน ครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อ 15 กันยายน 2565 ครั้งที่ 2 เมื่อ 15 ตุลาคม 2565 ซึ่งปรากฏว่ามีมือดีปล่อยเอกสารรายงานครั้งที่ 2 ที่เป็นข้อมูลลับทางราชการหลุดออกมาสู่สาธารณะ ทั้งนี้มีกำหนดส่งรายงานฉบับสุดท้ายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 จึงเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า กสทช.จะเล่นบทบาทอย่างไรในวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ กสทช.ได้กำหนดให้จัดประชุมเพื่อพิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค หลังจากที่ประกาศเลื่อนเมื่อ 12 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาโดยอ้างเหตุผลรอรายงานผลการศึกษาของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ

หากย้อนดูเส้นทางการควบรวม การทำงานของ กสทช. ได้ถูกติดตามมากยิ่งขึ้น โดยแหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคมเปิดเผยว่า กรณีพิจารณารวมกิจการทรู-ดีแทคล่าช้าจนสร้างความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยทรูและดีแทค จนมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีประเด็นให้ได้เลื่อนการพิจารณา

ล่าสุดมีข่าวทราบทั่วกันว่า กสทช.ได้เลื่อนการลงมติพิจารณาการควบรวมทรู-ดีแทคจากวันที่ 12 ต.ค. 65 โดยมีรายงานข่าวว่า กรรมการ กสทช.จำนวน 3 ท่านไม่ลงมติ ได้แก่ ดร.พิรงรอง รามสูต ดร.ศุภัช ศุภชลาสัย และพลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ โดยให้เหตุผลว่าต้องการรอรายงานผลการศึกษาจากที่ปรึกษาอิสระต่างประเทศที่จะส่งมาให้ในวันที่ 14 ต.ค. 65 จึงขอเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็น 20 ต.ค.65 แต่ปรากฏว่ารายงานผลการศึกษาดังกล่าวได้หลุดออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. 65 เรื่อยมา จึงเป็นที่น่าสังเกตและเกิดความสงสัยแก่สาธารณะ ซึ่งเมื่อได้ค้นหาสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ปรึกษาอิสระรายนี้ รวมถึงกระบวนการว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศรายนี้ ซึ่งถือว่าเป็นรายใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา โดยสังคมทั่วไปทราบแต่เพียงว่ามีการแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นที่ปรึกษาอิสระตามประกาศการรวมธุรกิจ ปี 2561 และ กสทช.ได้แต่งตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาอิสระเพิ่มเติมเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากการรวมธุรกิจ อีกทั้งยังมีความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบการพิจารณาตัดสินใจอย่างครบถ้วน เรียกได้ว่าข้อมูลต่างๆ มีครบถ้วนเพียงพอต่อการลงมติ ไม่มีเหตุให้ต้องยื้อ หรือถ่วงเวลาการพิจารณาลงมติออกไปอีก

“การกำหนดระยะเวลาให้ที่ปรึกษาอิสระต่างประเทศส่งผลการศึกษาให้ กสทช. ทั้งๆ ที่ระยะเวลาการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของทรูและดีแทคได้ล่วงเลยมานานแล้ว อีกทั้งการแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระรายนี้ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาต่างประเทศ อาจจะไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่า กสทช.ต้องจ้างที่ปรึกษาฯ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษา ก.การคลัง แต่ที่ปรึกษารายนี้มีสำนักงานจดทะเบียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จากข้อมูลพบว่ามีพนักงานเพียง 1 คน จึงไม่น่าจะมีคนไทยร่วมงานด้วย

ด้วยเหตุนี้ จึงน่าสงสัยว่าที่ปรึกษารายนี้ขาดคุณสมบัติและประสบการณ์ตามที่กำหนดใน TOR และไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอิสระในการวิเคราะห์และให้ความเห็นในการรวมธุรกิจครั้งนี้ซึ่งมีมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว และเสริมต่อไปว่า ยังพบด้วยว่าบริษัทที่ปรึกษานี้ไม่ได้เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาในกิจการโทรคมนาคม แต่ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ และมีทรัพย์สิน (asset) คิดเป็นเงินไทยแค่ประมาณ 1 ล้านบาทเท่านั้น ที่สำคัญไม่พบว่ามีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เกี่ยวกับการรวมธุรกิจในกิจการ มีเจ้าของบริษัทเพียง 1 ราย และผู้บริหารมีเพียง 1 รายเท่านั้น อีกทั้งไม่มีระบุถึงประสบการณ์ของบริษัทด้านโทรคมนาคมในต่างประเทศ ซึ่งจะเข้าข่ายเงื่อนไขของ กสทช.หรือไม่ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด!




กำลังโหลดความคิดเห็น