xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” ลงพื้นที่อัปเดตมอเตอร์เวย์ "บางใหญ่-กาญจนบุรี" คืบหน้ากว่า 82% มั่นใจเปิดบริการปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากเพจ มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ตอน 14
อัปเดตมอเตอร์เวย์ "บางใหญ่-กาญจนบุรี" 6.24 หมื่นล้านบาท งานโยธาคืบหน้ากว่า 82% “ศักดิ์สยาม” ลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี มั่นใจเปิดบริการปี 66 พร้อมเร่งสรุปรูปแบบลงทุน ขยายอีก 82 กม.ถึงชายแดนไทย-เมียนมา (บ้านพุน้ำร้อน)

วันที่ 14 ต.ค. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคมขนส่ง มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเข้าร่วม เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญทุกโหมดการเดินทางในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี

โดยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สาย M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทางรวมประมาณ 96 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 62,452 ล้านบาท โดยมีจุดเริ่มต้นที่จุดตัดทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ด้านตะวันตกกับถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณทางแยกต่างระดับบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ผ่านพื้นที่อำเภอนครชัยศรี และอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี สิ้นสุดที่จุดบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 324 (ถนนกาญจนบุรี-อำเภอพนมทวน) อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาจำนวนทั้งหมด 25 ตอน (สัญญา) มีความก้าวหน้ากว่า 82% และมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2566 (เริ่มเก็บค่าผ่านทางในปี 2567) โดยจัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบปิด (Closed System) คิดค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริงซึ่งมีทั้งการจัดเก็บแบบเงินสด (Manual Toll Collection : MTC) แบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection : ETC ) และแบบ Multi-lane free flow (M-Flow)

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยามได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ตอนที่ 18 ที่ กม.66+900 และพบปะกับประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการเกี่ยวกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมและการขนส่งสินค้า


สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยได้รับการบรรจุในแผนมาตรการเร่งรัดการลงทุน Action Plan ของกระทรวงคมนาคมและมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) ของกระทรวงการคลัง เพื่อเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ลักษณะโครงการเป็นทางหลวงพิเศษ ขนาด 4-6 ช่องจราจร มีด่านเก็บค่าผ่านทาง จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ ด่านบางใหญ่ ด่านนครชัยศรี ด่านศีรษะทอง ด่านนครปฐมฝั่งตะวันออก ด่านนครปฐมฝั่งตะวันตก ด่านท่าม่วง ด่านท่ามะกา และด่านกาญจนบุรี อัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางสำหรับรถยนต์ 4 ล้อ มีค่าแรกเข้า 10 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 1.50 บาท/กิโลเมตร สูงสุด 150 บาท รถยนต์ 6 ล้อมีค่าแรกเข้า 16 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 2.40 บาท/กิโลเมตร สูงสุด 240 บาทและรถยนต์มากกว่า 6 ล้อ มีค่าแรกเข้า 23 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 3.45 บาท/กิโลเมตร สูงสุด 350 บาท


ทั้งนี้ เมื่อมอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) แล้วเสร็จจะช่วยให้การเดินทางจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปยังภาคตะวันตกของประเทศเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย สามารถลดระยะเวลาการเดินทางจากอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี-จังหวัดกาญจนบุรี เหลือเพียง 48 นาที เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางโดยใช้ทางหลวงแผ่นดินซึ่งใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมงซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างฐานการผลิตและส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมสู่ภาคตะวันตกและโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย
ประเทศเมียนมาในอนาคต

พร้อมกันนี้ รมว.คมนาคมได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ ตำบลสนามแย้ และตำบลดอนชะเอม รวมถึงปัญหาที่ดินตาบอดจากการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 81 และการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในพื้นที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงด้วย


สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M81 มีส่วนต่อขยายจากกาญจนบุรี-ชายแดนไทย-เมียนมา (บ้านพุน้ำร้อน) จะเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองขนาด 4 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี สิ้นสุดที่ด่านพรมแดนบ้านพุน้ำร้อน ระยะทาง 82 กิโลเมตร ปัจจุบันการดำเนินงานได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (FS) และออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ สำหรับรูปแบบการลงทุนและแผนดำเนินโครงการอยู่ระหว่างรอความชัดเจนของการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย

นอกจากนี้ ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ยังมีโครงการแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP เป็นโครงข่ายคมนาคมที่ประกอบไปด้วยถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟพัฒนาอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางกับภาคอื่นของประเทศไทยให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง โดยแผนการดำเนินการ ได้แก่ ปี 2564 แผนแม่บทโครงข่าย MR-MAP ได้ศึกษาแล้วเสร็จ และคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.) ได้เห็นชอบแล้วปี 2565

โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะดำเนินการสำรวจและออกแบบในรายโครงการ โดยมีเส้นทางที่ผ่านพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ MR5 : กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) - อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6) ระยะทาง 832 กิโลเมตร ซึ่งเป็น 1 ใน 3 โครงการนำร่อง และ MR6 : กาญจนบุรี (ด่านพุน้ำร้อน) - สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ระยะทาง 390 กิโลเมตร

สำหรับการพัฒนาทางถนน ของกรมทางหลวง ในพื้นที่ 2 โครงการได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 323 สายท่าเรือ-กาญจนบุรี ดำเนินการแล้วเสร็จ 2. โครงการก่อสร้างปรับปรุงบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 323 กับทางหลวงหมายเลข 367(แยกท่าล้อ) อยู่ระหว่างดำเนินการ

โครงข่ายของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มี 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการบำรุงถนนสาย กจ.4088 แยก ทล.3272-บ.อีต่อง อำเภอทองผาภูมิ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ผลการก่อสร้าง 83.98% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2565 และ 2. โครงการสะพานข้ามแม่น้ำแควน้อย ตำบลท่าเสา และตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ผลการก่อสร้าง 30.62%


ด้านการเชื่อมโยงการขนส่งสาธารณะ การเชื่อมโยงระบบคมนาคมจากสถานีขนส่งผู้โดยสารไปยังสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง หมวด 1 สายที่ 2 ศาลาสองแคว-เชิงสะพานแก่งเสี้ยน หมวด 4 สายที่ 1722 กาญจนบุรี-ลาดหญ้า สายที่ 8170 กาญจนบุรี-ศรีสวัสดิ์ สายที่ 8172 กาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน สายที่ 8203 กาญจนบุรี-สังขละบุรี สายที่ 8520 กาญจนบุรี-ค่ายกองพลที่ 9

รวมทั้งโครงการและแผนงานเพื่อบริการประชาชนต่างๆ ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ ได้แก่ 1. โครงการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 2. โครงการนักเรียนรุ่นใหม่มีใบขับขี่ 3. โครงการตรวจจับความเร็วรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกด้วยกล้องเลเซอร์เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 4. ศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS

5. ศูนย์ควบคุมสถานตรวจสภาพรถเอกชน (VICC) 6. โครงการตรวจการขนส่ง และตรวจวัดควันดำ 7. โครงการตรวจและทดสอบสารอันเกิดจากการเสพยาเสพติดให้โทษของผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ 8. เทคโนโลยีในการให้บริการประชาชน ได้แก่ ระบบจองคิวล่วงหน้า (DLT Smart Queue) ระบบชำระภาษีรถประจำปี (DLT Vehicle Tax DLT GPS) ตรวจสอบรถสาธารณะด้วยระบบ GPS และระบบใบอนุญาตขับรถเสมือนจริง (DLT QR LICENCE)

ในส่วนของรถไฟทางคู่ ก่อสร้างแล้วเสร็จ 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และอยู่ในแผนรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2569) จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน และเส้นทางกาญจนบุรี-สุพรรณบุรี-ชุมทางบ้านภาชี โดยทั้ง 2 เส้นทางอยู่ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 เพื่อศึกษาความเหมาะสมต่อไป

ด้าน มิติทางน้ำ มีการพัฒนาทางน้ำในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ โครงการขุดลอกแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง โครงการจัดระเบียบแพสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขากาญจนบุรี ร่วมมือกับจังหวัดกาญจนบุรี ในการจัดระเบียบแพ จำนวน 50 หลัง ในแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณท่าน้ำหน้าเมืองเขื่อนขุนแผน ให้แพพักเคลื่อนย้ายไปจอดไว้ในบริเวณที่เหมาะสม และโครงการสร้างความปลอดภัยในการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ได้แก่ จัดตั้งจุดอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำประจำท่าเทียบเรือที่มีประชาชน และนักท่องเที่ยวใช้บริการหนาแน่น จัดเจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือสาธารณะ และการควบคุมเรือทุกประเภท ตรวจสอบความปลอดภัยของเรือโดยสารและโป๊ะเทียบเรือ

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้การเชื่อมต่อด้านคมนาคมขนส่งทุกโหมดการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและคมนาคมขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับภูมิภาคอื่นๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง


นายศักดิ์สยามมีข้อสั่งการรวม 7 ข้อ ได้แก่ 1. เร่งรัดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566 ได้ตามเป้าหมายของกระทรวงคมนาคมที่ร้อยละ 100 โดยเฉพาะงบลงทุน เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

2. การดำเนินการในทุกขั้นตอนขอให้ยึดหลักกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด

3. การดำเนินโครงการต่างๆ ขอให้คำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชนด้วย โดยอาจเริ่มดำเนินการตั้งแต่ก่อนดำเนินโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

4. ให้หน่วยงานในพื้นที่เร่งซ่อมแซมสายทางที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย และประสานงานกับจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที

5. ในการดำเนินการก่อสร้าง ให้หน่วยงานคมนาคมในพื้นที่คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ

6. ให้ทำการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดอย่างต่อเนื่องและครบทุกมิติ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน

7. ให้กรมการขนส่งทางบกขยายผลการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขยายผลไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น การนำรถเมล์ EV มาให้บริการประชาชน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น