ผู้จัดการรายวัน 360 - “คาร์กิลล์” เดินเกมรุก ปักธงลุยตลาด B2C ครั้งแรกในไทยรอบ 50 ปี พร้อมรุกตลาดแพลนต์เบส ปั้น 2 แบรนด์หลักลุยตลาด พร้อมดันไทยเป็นฮับรุกตลาด B2C เซาท์อีสต์เอเชียด้วย
นายธิติ ตวงสิทธิตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ทางคาร์กิลล์ไทยมีแผนที่จะเข้าสู่ตลาดในรูปแบบบีทูซี (B2C) อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปีนี้อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ได้เริ่มทดลองนำร่องมาประมาณปีเศษที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับอย่างดีและไทยยังถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอันดับต้นๆ ในเอเชียด้วยที่เริ่มทำโมเดลบีทูซีนี้ จากเดิมที่ธุรกิจนั้นจะเน้นช่องทางบีทูบีมากกว่า นอกจากนั้นยังจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานในการรุกตลาดโมเดลบีทูซีตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคาร์กิลล์มีธุรกิจหลักที่ทำในไทย คือ การเป็นซัปพลายเออร์ไก่รายใหญ่ให้กับธุรกิจต่างๆ และทำธุรกิจด้านเกษตร ธัญพืช วัตถุดิบอาหาร อาหารสัตว์ ดำเนินธุรกิจในไทยมานานกว่า 50 ปี ส่วนเป้าหมายจากนี้ไปต้องการก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 ในแง่ของปริมาณการผลิตโปรตีนจากไก่ จากขณะนี้อยู่อันดับ 4 แต่ยังคงเป็นผู้นำตลาดในการส่งออกไก่ปรุงสุกไปต่างประเทศ
แผนการรุกตลาดดังกล่าว ได้สร้างแบรนด์สินค้าขึ้นมา 2 แบรนด์หลักที่มีในต่างประเทศแล้ว คือ “Sun Valley (ซันวัลเลย์)” ไก่สดและไก่ปรุงสุก ทำตลาดในไทยมาประมาณ 2 ปี และ “PlantEver (แพลนต์เอเวอร์)” โปรตีนจากพืชหรือแพลนต์เบสที่เพิ่งทำตลาดปีนี้
เขากล่าวว่า สาเหตุที่รุกตลาดบีทูซีนั้น ในส่วนของตลาดไก่ เป็นตลาดที่ใหญ่มีมูลค่ามากกว่า 233,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เนื้อไก่สด สัดส่วน 59% เติบโต 3.5% ต่อปี, เนื้อไก่ปรุงสุกพร้อมรับประทาน สัดส่วน 26% เติบโตมากที่สุด 10.5% ต่อปี และเนื้อไก่ปรุงสุกพร้อมปรุง สัดส่วน 15% เติบโต 7.8% และคนไทยมีการบริโภคเนื้อไก่มากขึ้นถึง 25 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยเฉลี่ยเมื่อปีที่แล้ว (2565) เพิ่มขึ้นมากจากเมื่อปี 2554 ที่มีเพียง 12 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น
โดยซันวัลเลย์เน้นช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น โลตัส ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต กูร์เมต์มาร์เก็ต วิลล่ามาร์เก็ต ฟู้ดแลนด์ ช้อปปี้ ลาซาด้า เป็นต้น มีสินค้าเบื้องต้น 7 เอสเคยู มีผลิตภัณฑ์ไก่สดและไก่ปรุงสุก เช่น นักเก็ตไก่ ไก่ป็อป ชังค์กี้ไบท์ และชิกเก้นสติ๊ก ที่ทำจากเนื้ออกไก่
ส่วนตลาดแพลนต์เบสที่ส่งแบรนด์ “PlantEver (แพลนต์เอเวอร์)” โปรตีนจากพืชลงตลาดนั้น มองว่าตลาดแพลนต์เบสในไทยเป็นตลาดที่มีแนวโน้มดีอย่างมาก สอดรับกับเทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภคคนไทยและทั่วโลก ซึ่งเมื่อปี 2562 ตลาดแพลนต์เบสในไทยมีมูลค่าประมาณ 28,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 45,000 ล้านบาทในปี 2567 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% เป็นอย่างต่ำ เพราะคนไทยลดการบริโภคเนื้อสัตว์และหันมาบริโภคโปรตีนทางเลือกจากพืชมากขึ้น และสามารถเข้าถึงทุกเจเนอเรชันและยังใช้ภาชนะใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพราะบรรจุภัณฑ์ของ PlantEver ทำจากพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% อีกด้วย เบื้องต้นมี 2 เอสเคยู คือแบบนักเก็ตและมีตบอล ปัจจุบันสัดส่วนช่องทางออนไลน์เป็นหลักมากกว่า 80% เนื่องจากจำหน่ายในช่วงที่เกิดโควิด-19
คาร์กิลล์ วางแผนจำหน่ายสินค้าทั้ง 2 แบรนด์แบบ Omnichannel คือ การวางจำหน่ายผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น การจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกต ซูเปอร์สโตร์ ร้านขายเนื้อสดท้องถิ่น ร้านอาหารแช่แข็ง แผงตลาดสด และช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบันของผู้บริโภคยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม นายธิติยอมรับว่าราคาของแพลนต์เบสในไทยยังมีราคาสูงกว่าราคาอาหารเนื้อสัตว์ปกติประมาณ 15-20% เนื่องจากยังต้องใช้เทคโนโลยีและต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า จึงยังทำให้มีช่องว่างเรื่องราคาพอสมควร แต่ในอนาคตมั่นใจว่าหากตลาดตอบรับดี ราคารวมทั่วไปของแพลนต์เบสอาจจะใกล้เคียงหรือไม่แตกต่างจากเนื้อสัตว์จริงทั่วไป ซึ่งปัจจัยหลักในการทำตลาดคือ การพัฒนารสชาติที่เสมือนเนื้อสัตว์จริงและช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภค
นายธิติกล่าวว่า แนวโน้มของธุรกิจโปรตีนจากเนื้อไก่และพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุคหลังโควิด-19 ผู้บริโภคหันมาใส่ใจในสุขภาพ คัดเลือกวัตถุดิบในการปรุงอาหารอย่างพิถีพิถันเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัย ที่สำคัญ รสชาติต้องอร่อย จึงมีความต้องการผลิตภัณฑ์ไก่ปรุงสุกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ต้องการความสะดวกรวดเร็ว และตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ให้กับสมาชิกทุกคนในครอบครัว
ขณะเดียวกัน อีกเทรนด์หนึ่งที่กำลังมาแรงทั่วโลก คือเทรนด์การบริโภคโปรตีนทางเลือก เพื่อการรักษาสุขภาพ ป้องกันโรค อีกทั้งแสดงถึงความตระหนักในด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก คาร์กิลล์ได้ติดตามเทรนด์ใหม่ๆ เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และเล็งเห็นศักยภาพในอนาคต หนึ่งในกลยุทธ์หลักคือ การใกล้ชิดกับผู้บริโภคให้มากขึ้น โดยอาศัยจุดแข็งและความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรของกลุ่มเป็นฐานในการเจาะเข้าสู่ตลาดอาหาร โปรตีนจากเนื้อไก่และโปรตีนจากพืชสำหรับผู้บริโภคในประเทศไทย และได้เปิดตัวทั้ง 2 แบรนด์สินค้า ที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทั้งกลุ่มที่รับประทานเนื้อสัตว์ และกลุ่มที่สนใจโปรตีนทางเลือก” นายธิติกล่าว