xs
xsm
sm
md
lg

“กองทุนสื่อเข้ม ทุนปี 66 ตอบโจทย์สังคมได้จริง” เฟ้นหาผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รับทุนรวม 300 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอทุนผลิตสื่อสร้างสรรค์ประจำปี 2566 จัดสรรงบประมาณ 300 ล้านบาทเฟ้นหาผู้ผลิตสื่อคุณภาพรับทุนผลิตสื่อสร้างสรรค์ ร่วมสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ และสร้างสรรค์สังคม เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 31 ต.ค. 65

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสื่อต่างๆ มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนมากขึ้น สื่อที่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนมีจำนวนน้อย การผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งไม่เป็นที่นิยมของผู้ผลิตและสนับสนุนการผลิตสื่อ ทำให้ขาดเงินทุนในการผลิตและการเผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการผลิต การพัฒนาและการเผยแพร่สื่อที่ดีมีคุณภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดังนั้น กองทุนฯ จึงได้ประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ ประจำปี 2566

ทั้งนี้ ทุนที่จัดสรรให้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. ประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) มีขอบเขตของโครงการหรือกิจกรรมการสนับสนุนในหัวข้ออิสระ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้รับสื่อเฉพาะ 4 กลุ่ม ได้แก่ เด็กและเยาวชน, ผู้สูงอายุ ที่กำลังมีมากขึ้น (เกินกว่า 20%) เป็นกลุ่มที่ทรงคุณค่า, คนพิการ (จำกัดทางการได้เห็นหรือการได้ยิน) และผู้ด้อยโอกาส (คนชายขอบ/กลุ่มชาติพันธุ์) และประชาชนทั่วไป โดยให้อิสระในการนำเสนอ และขอให้มองกลุ่มเป้าหมายเป็นตัวตั้ง วงเงินงบประมาณรวม 90 ล้านบาท

2. ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) เอาสาระเนื้อหาเป็นตัวตั้ง มีขอบเขตของโครงการหรือกิจกรรมการสนับสนุนในหัวข้อ ดังนี้ 2.1 ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) กับมิติทางสังคม ให้สอดคล้องกับสภาวะที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีสื่อออกมาให้คนเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้ 2.2 พหุวัฒนธรรมและความหลากหลายทางสังคม เพราะสังคมไทยเรามีเสน่ห์ แต่ละท้องถิ่นมีอัตลักษณ์ มีความผสมกลมกลืน ขณะเดียวกันบางเรื่องเราก็มีมุมมอง มีความเห็นแตกต่างกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ จึงต้องมีสื่อออกมาผสานความเข้าใจอันดีต่อกัน ให้เคารพในกันและกัน ดังความตั้งใจของกองทุนฯ ที่มุ่งส่งเสริมคนไทยให้อยู่ร่วมกัน สามารถใช้ชีวิตในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายได้อย่างมีความสุข 2.3 ทักษะการรู้เท่าทันสื่อและการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ต้องมีหลักคิดวิเคราะห์ อย่าด่วนเชื่อ แต่ควรไตร่ตรองก่อน และให้ตระหนักว่าข่าวสารที่ได้รับมาจากสื่อมีทั้งบวกและลบ มีปัจจัยเบื้องหลัง จึงควรตรวจสอบเสมอ 2.4 การสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) เช่น วิถีชีวิต ชุมชน ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกร็ดประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว อาหาร ให้เผยแพร่ออกไปและรับรู้ในระดับสากล และเกิดพลัง 2.5 การเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และการลดช่องว่างระหว่างวัย เพราะทุกวันนี้มีหลายเรื่องที่คุยกันไม่ได้ในครอบครัว สื่อต้องหาวิธีสานความสัมพันธ์นี้ 2.6 การรับมือกับข้อมูล บิดเบือน (Disinformation) ประทุษวาจา (Hate Speech) และการระรานในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ทุกวันนี้เราเห็นบรรยากาศแบบนี้อยู่เนืองๆ ทำอย่างไรจึงจะลดข้อมูลเหล่านี้ลงได้ 2.7 การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหน้าใหม่หรือหน้าเก่า ในวงเงินงบประมาณรวม 170 ล้านบาท

และ 3. ประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) มีขอบเขตของโครงการหรือกิจกรรมที่ดำเนินงานในหัวข้อเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน การเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ หรือการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นกลุ่มภาคีเครือข่ายที่เป็นนิติบุคคล ทำงานร่วมกับกองทุนฯ ที่พร้อมจะขับเคลื่อนร่วมกันอย่างต่อเนื่องในวงเงินงบประมาณรวม 40 ล้านบาท

นอกจากนี้ ดร.ธนกรยังได้เผยเคล็ดลับสำหรับผู้ขอทุนเพื่อจะมีโอกาสได้รับพิจารณา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความรู้จักกับกองทุนฯ เข้าใจแนวคิด วัตถุประสงค์ ยุทธศาสตร์ เพื่อการคิดโครงการได้ครอบคลุมตอบโจทย์กองทุนฯ ในทุกมิติ หากคิดครบ รู้จักตัวเราเองว่าเก่งด้านใด พร้อมรู้จักกองทุนฯ ดูเนื้องานของเราแล้วตั้งงบประมาณขอมาอย่างสมเหตุสมผล โอกาสที่จะได้รับทุนก็เป็นไปได้สูง และควรยื่นโครงการแต่เนิ่นๆ

ทั้งนี้ ผู้ขอรับการสนับสนุนสามารถยื่นคำขอได้เพียงหนึ่งโครงการหรือกิจกรรม โดยเลือกประเภทใดประเภทหนึ่งและหัวข้อย่อยข้อใดข้อหนึ่ง ยกเว้นผู้ขอรับการสนับสนุนที่เป็นนิติบุคคลประเภทสถานศึกษา สามารถยื่นคำขอรับการสนับสนุนได้มากกว่าหนึ่งโครงการหรือกิจกรรม โดยผู้ขอทุนสามารถตรวจสอบคุณสมบัติ และยื่นคำขอ พร้อมแสดงรายละเอียดโครงการหรือกิจกรรม และงบประมาณที่ขอรับการสนับสนุนได้ทางเว็บไซต์ www.thaimediafund.or.th (บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ต้องให้ผู้ปกครองยินยอมในการยื่นคำขอ) โดยเปิดรับโครงการหรือกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึง 31 ตุลาคม 2565 ภายในเวลา 16.30 น. สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2273-0116-9 ในวันและเวลาราชการ

“การขอทุนไปจัดทำสื่อ คือการสร้างโอกาส แต่ที่มากไปกว่านั้น คือการได้ผลิตสื่อที่ดีมีคุณภาพเข้ามาลดทอนสื่อที่ไม่สร้างสรรค์หรือบั่นทอนสังคมให้มีสัดส่วนน้อยลง และยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ แต่สิ่งสำคัญกว่าอื่นใด เรามั่นใจว่าสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะสามารถตอบโจทย์ปัญหาและเปลี่ยนแปลงสังคมได้” ดร.ธนกรกล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น