xs
xsm
sm
md
lg

ช่อง 3 แมว 9 ชีวิต ต่อจิ๊กซอว์ ผ่านดิสรัปชัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - เกมชีวิต พลิกช่อง 3 จากที่เคยขึ้นสูงสุด เบียดขึ้นเบอร์ 1 บนสังเวียนสื่อทีวีอยู่บ่อยครั้ง สร้างประวัติศาสตร์โกยรายได้ปีละไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน ฟาดกำไรระดับ 5 พันล้านก็ทำมาแล้ว ใครเลยจะคิดว่าช่อง 3 จะล้มคะมำสู่จุดต่ำสุด ขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน หลังเข้าสู่ยุคดิจิทัลทีวี เหตุเพราะเดินหมากผิด เคราะห์ซ้ำเจอดิจิทัลดิสรัปชันเข้าถล่มจนเกือบทรงตัวไม่ไหว แต่ “แมว 9 ชีวิต” ไม่คิดยอมแพ้ ใช้เวลารักษาจุดอ่อน ซุ่มเฝ้ามอง และต่อจิ๊กซอว์สร้างรากฐานครั้งใหม่ หวังกระโจนสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง ในฐานะ Total Entertainment Company ปักธงรายได้กลับมาหมื่นล้านอีกครั้ง

ยุคเฟื่องฟูของสื่อทีวี ได้นั่งนับเงินเป็นกอบเป็นกำ คงต้องนับย้อนหลังกลับไปในช่วงปี 2550-2556 หรือก่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัลทีวีในปี 2557 ช่วงนั้นสื่อทีวีอู้ฟู่สุดๆ ดูได้จากปี 2556 มูลค่าสื่อทีวีสูงถึง 77,000 กว่าล้านบาท จากมูลค่ารวมของสื่อโฆษณา 120,570 ล้านบาท ซึ่งเวลานั้นประเทศไทยยังมีฟรีทีวีเพียงไม่กี่ช่อง คู่แข่งยังน้อย รายได้แต่ละช่องจึงมีไม่ต่ำกว่า 1-1.5 หมื่นล้านบาท ใครๆ ก็เลยอยากกระโจนเข้าชิงเค้กก้อนนี้กันทั้งนั้น
 
แต่เมื่อเข้าสู่เกมดิจิทัลทีวีกันจริงๆ จากที่คิดว่าจะเป็น “ยุคทอง” กลับกลายเป็น ”ยุคเท” ทันที เหตุดิจิทัลทีวีถูกเทจากทุกทิศทุกทาง ทั้งโดนเทจากภาครัฐที่ยังเก๋าไม่พอ วางอินฟราสตรักเจอร์ไม่พร้อม โดนเทจากเอเยนซีโฆษณาเพราะตัวเลือกที่ให้ราคาถูกกว่ามันเยอะ ที่สำคัญโดนเทจากผู้ชมเพราะมีตัวเลือกให้ดูมากขึ้น แค่เพียง 3 ปี ขนาดยักษ์ใหญ่ของวงการทีวี อย่างช่อง 3 ยังต้องสะอื้นกับรายได้ที่ไม่คาดฝันว่าจะหดลงเหลือเพียง 1 หมื่นล้านบาทต้นๆเท่านั้น 




เช็ดน้ำตายังไม่ทันแห้ง ยังมาเจอช็อกเวฟรอบ 2 กับการมาของดิจิทัลดิสรัปชันอีก ศึกนี้มาแบบไม่ทันตั้งตัว ความแข็งแกร่งของสื่อทีวีถูกสั่นคลอนอย่างต่อเนื่อง กว่าจะทรงตัวและตั้งหลักได้ก็เลียแผลกันไปหลายหน “ช่อง 3” เองก็เกือบแย่แต่ยังหายใจ ตกต่ำสุดคือขาดทุนแต่ก็ใช้เวลาไม่นานฟื้นคืนกำไรกลับมา มีของดีอะไร “ช่อง 3” จึงเหมือน “แมว 9 ชีวิต” ที่วันนี้ขอป่าวประกาศดังๆ ขอกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

“ยอมรับว่าเวลานั้น ช่อง 3 มองเกมผิดที่เลือกประมูลดิจิทัลทีวีถึง 3 ช่อง ขณะที่อายส์บอลหรือฐานผู้ชมเท่าเดิม เม็ดเงินโฆษณาเท่าเดิม แต่เรามีต้นทุนเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า บวกกับภาครัฐยังไม่มีความพร้อมเพียงพอต่อการรับชมดิจิทัลทีวี ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ยาก ช่วงนั้นจึงค่อนข้างลำบาก บวกกับดิจิทัลดิสรัปชันเข้ามาอีก ทำให้ช่อง 3 ต้องปรับตัวอย่างหนัก” นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร ช่อง 3 เอชดี ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของช่อง 3 ในช่วงที่ผ่านมา


**ย้อนรอยรายได้ช่อง 3 ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา**
ก่อนไปไขความสำเร็จของช่อง 3 ขอพาย้อนเวลาไปดูความยิ่งใหญ่ของช่อง 3 ตั้งแต่ปี 2556 ก่อนก้าวสู่ดิจิทัลทีวีมาจนถึงปี 2564 ว่ามีรายได้เป็นอย่างไร กับสถิติรายได้ช่อง 3 ปี 2556-2564 ดังนี้
1. ปี 2556 รายได้ 16,697 ล้านบาท กำไร 5,589 ล้านบาท
2. ปี 2557 รายได้ 16,381 ล้านบาท กำไร 4,415 ล้านบาท
3. ปี 2558 รายได้ 16,018 ล้านบาท กำไร 2,983 ล้านบาท
4. ปี 2559 รายได้ 12,534 ล้านบาท กำไร 1,218 ล้านบาท
5. ปี 2560 รายได้ 11,226 ล้านบาท กำไร 61 ล้านบาท
6. ปี 2561 รายได้ 10,486 ล้านบาท ขาดทุน 330 ล้านบาท
7. ปี 2562 รายได้ 8,751 ล้านบาท ขาดทุน 397 ล้านบาท
8. ปี 2563 รายได้ 5,908 ล้านบาท ขาดทุน 214 ล้านบาท
9. ปี 2564 รายได้ 5,680 ล้านบาท กำไร 761 ล้านบาท
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ช่อง 3 (เรื่องเล่าเช้านี้)


** 5 จิ๊กซอว์ พาช่อง 3 สู่หมื่นล้าน
หลังจากที่ช่อง 3 ต้องประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงปรับแผน มองหาทางออก เดินหน้าต่อจิ๊กซอว์ให้ครบ เพื่อกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

“ผมอยากพาช่อง 3 กลับไปสู่จุดเดิมอีกครั้ง ในวันที่ช่อง 3 เคยมีรายได้สูงสุดระดับ 1 หมื่นล้านขึ้นไป มีกำไรร่วม 5,000 ล้านบาท เชื่อว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูง หลังจากวางแผนการดำเนินงานใหม่ ไม่หยุดอยู่แค่ความเป็นช่องทีวีอย่างที่ผ่านมา แต่ก้าวขึ้นไปสู่ความเป็น Total Entertainment Company ที่พร้อมเติบโตในฐานะคอนเทนต์โพรวายเดอร์ มองตลาดคอนเทนต์ไปสู่ระดับโลก” ความท้าทายที่กุนซือ ชื่อ “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” ได้กล่าวไว้

สำหรับบทใหม่ของช่อง 3 ที่ขอสลัดภาพช่องทีวีสู่คอนเทนต์โพรวายเดอร์นั้นได้เริ่มต่อจิ๊กซอว์มาตลอด 2 ปี หรือตั้งแต่ช่อง 3 ได้ “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” กลับมานั่งกุมบังเหียนอีกครั้ง


โดยนายสุรินทร์กล่าวว่า ตลอด 2 ปีนี้ ช่อง 3 ได้มีการลงทุนในหลายๆ ส่วนเพื่อนำพาช่อง 3 ไปสู่การเป็น Total Entertainment Company ซึ่งมองว่าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะเป็นช่วงเวลาบุกของช่อง 3 และพร้อมเก็บเกี่ยวรายได้จากสิ่งที่ลงทุนไป ตามเป้าหมายของการเป็นคอนเทนต์โพรวายเดอร์ ลดการพึ่งพารายได้จากทีวี สู่การต่อยอดหารายได้จากส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม

สำหรับ 5 จิ๊กซอว์ใหม่ของช่อง 3 ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนครั้งสำคัญ ประกอบด้วย 1. สตูดิโอ ด้วยการจัดตั้ง บริษัท บีอีซี สตูดิโอ จำกัด ขึ้นมาเพื่อทำใน 2 ส่วน คือ สตูดิโอ และผลิตคอนเทนต์ โดยใช้งบกว่า 400 ล้านบาท สร้าง Soundstage Studio เพื่อผลิตคอนเทนต์ที่ยกระดับขึ้นสู่ตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็น การสร้างสรรค์ผลงานละครโทรทัศน์และซีรีส์แบบ Orginal Contents เพื่อออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 และแพลตฟอร์มออนไลน์ ประเดิมการผลิตละครใหม่ 3 เรื่อง โดย 2 เรื่องแรก คือ มือปราบกระทะรั่ว และเกมโกงเกมส์ ซึ่งใช้ทีมงาม Internal Production ของบีอีซี สตูดิโอ และเรื่องที่ 3 คือ ร้อยเล่มเกมส์ออฟฟิศ เป็นการร่วมมือกับผู้จัดการมากฝีมือ คือ ตู่-ปิยะวดี มาลีนนท์ จากบริษัท เวลาดี 2020 จำกัด

2. บริหารศิลปิน (Artist Management) ปัจจุบันช่อง 3 มีดาราในสังกัดเยอะมาก การบริหารศิลปินให้สามารถออกไปทำงานกับองค์กรข้างนอกได้ จะเป็นอีกส่วนที่ช่วยเพิ่มรายได้เข้ามา ยกตัวอย่างเช่น ญาญ่า ที่ได้ทำงานร่วมกับเน็ตฟลิกซ์ กับซีรีส์ เรื่อง ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง (Thai Cave Rescue) ซึ่งธุรกิจการบริหารศิลปินนี้ถือเป็นการใช้สินทรัพย์ดารานักแสดงที่มีอยู่อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งการคัดเลือกศิลปินใหม่ และการสร้างรายได้จากลิขสิทธิ์ละครมากขึ้น เช่น การขายลิขสิทธิ์นำไปผลิตเวอร์ชันใหม่ รวมทั้งการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ป้อนแพลตฟอร์มโอทีที เป็นต้น

3. ธุรกิจเพลง ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ช่อง 3 มีรายได้เข้ามา กับโมเดลปั้นดาราสู่การเป็นนักร้อง ซึ่งปีนี้ได้เปิดตัวไปแล้ว กับ แต้ว-ณฐพร กับเพลง babyboo และ โบว์- เมลดา ศิลปินเบอร์สอง กับเพลง แฟนผมน่ารัก ส่วนปีหน้าจะมีอีก 1-2 คน

“การต่อยอดนักแสดงของช่อง 3 เข้าสู่วงการเพลงนั้น เป็นหนึ่งในแผนที่ได้วางไว้ในปี 2565 โดยช่อง 3 นั้นมีนักแสดงที่มีศักยภาพอยู่จำนวนมาก โดยแต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกันไป และหนึ่งในนั้นคือการเป็นศิลปิน นักร้อง มีความสามารถด้านการเต้นนั่นเอง สำหรับการเลือกศิลปินเบอร์แรกเพื่อเปิดตัว คือ แต้ว- ณฐพร เตมีรักษ์ เนื่องจากมองเห็นแล้วว่าแต้วเป็นนักแสดงที่มีศักยภาพสูงทั้งในด้านการแสดงที่สามารถเข้าถึงบทบาทได้อย่างหลากหลาย และยังเป็นนักแสดงที่มีความสามารถด้านการร้องเพลงและการเต้น ตอบโจทย์ทุกด้าน มีความพร้อมที่จะขึ้นแท่นเป็นศิลปินเบอร์แรก” นายสุรินทร์ ได้กล่าวไว้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมากับแผนเปิดตัวธุรกิจเพลงครั้งแรก


อย่างไรก็ตาม ช่อง 3 มีหน่วยธุรกิจเพลง ในส่วนของค่ายเพลงอยู่แล้ว คือ แชนเดอเลียร์มิวสิก (Chandelier Music) โดยมีหนึ่ง-ณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์ อดีตนักแต่งเพลงของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ เป็นผู้บริหาร จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่อง เพลงละคร เป็นหลัก เนื่องจากช่อง 3 ผลิตละครใหม่ขึ้นมากว่า 30 เรื่องต่อปี เพลงละครเป็นอีกคอนเทนต์ที่สำคัญไม่แพ้กัน และยังเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรายได้ได้

“ธุรกิจเพลง สามารถสร้างรายได้ในแง่ลิขสิทธิ์ได้ เช่น ช่วงละครบุพเพสันนิวาสดัง เพลงละครก็ดังตาม การจะนำเพลงเหล่านี้ไปร้องต้องมาขออนุญาตหรือซื้อลิขสิทธิ์จากเรา ขณะเดียวกันยังเอื้อต่อการจัดคอนเสิร์ต อีเวนต์ หรืองานโชว์ตัว ของดาราในสังกัด ที่เราสามารถนำเพลงเหล่านี้ไปใช้ โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เพลงให้ที่อื่นด้วย”

4. ธุรกิจหนัง ถือเป็นความท้าทายใหม่ที่ช่อง 3 เข้ามารุกในปี 2565 นี้ ล่าสุดได้ร่วมมือกับ เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ สร้างหนังไทยร่วมกัน ภายใต้ชื่อ “Big Movies Big Project 2022” ประเดิมด้วยภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่อง “บัวผัน ฟันยับ” นำแสดงโดย “แอน ทองประสม” และพระเอกใหม่ของช่อง 3 “กลัฟ คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์” โดยได้ “ยอร์ช ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์” นั่งแท่นเป็น Executive Producer และ “ตุ๋ย พฤกษ์ เอมะรุจิ” กำกับการแสดง


5. แอปพลิเคชัน CH3 Plus เป็นการอัปเกรดจากแอปพลิเคชัน CH3 เปิดตัวในปี 2563 เน้นการดูสดและย้อนหลังก่อนใครได้ทุกที่ทุกเวลา ครบทุกความบันเทิง จากทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็น ละคร, ข่าว, ออริจินัล ซีรีส์, ซีรีส์นานาชาติ และรายการวาไรตี

ล่าสุดหลังนายสุรินทร์กลับมาบริหารช่อง 3 ในครั้งนี้ ได้วางแผนให้ CH3 Plus เป็นอาวุธสำคัญเพื่อใช้ต่อยอด ดึงเงินในกระเป๋าจากกลุ่ม “แฟนด้อม” โดยเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแฟนด้อมจากต่างประเทศ ใช้เป็นช่องทางสำหรับรับชมคอนเทนต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟเวอร์ชันที่ไม่มีบนจนทีวี เป็นช่องทางจัดมีตติ้งออนไลน์ คอนเสิร์ตออนไลน์ เป็นต้น รวมถึงรับชมคอนเทนต์แบบต้องจ่ายค่าบริการอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งปัจจุบันมียอดโหลด CH3 Plus และแอ็กทีฟอยู่กว่า 10.6 ล้านครั้ง ในจำนวนดังกล่าวได้ลงทะเบียนให้ข้อมูลไว้ถึง 5.5 ล้านราย ปีหน้าคาดว่าจะเริ่มกิจกรรมต่างๆ บนแอปฯ CH3 Plus ได้ หลังจากช่วงโควิดต้องชะลอแผนสร้างรายได้จากแอปพลิเคชันนี้ไปก่อน

**ปักธง 5 ปี สู่เป้าหมื่นล้าน**
อย่างไรก็ตาม รายได้รวมในปี 2565 นี้ คาดการณ์ว่าจะทำได้ดีกว่าปี 2564 ที่มีรายได้ 5,680 ล้านบาท กำไรสุทธิ 761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 455% ซึ่งตามแผน 5 ปีจากนี้จะต้องมีรายได้เติบโต 2 หลักต่อเนื่อง หรืออย่างน้อยในปี 2569 จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท หรือก้าวไปสู่จุดเดิมที่เคยทำได้นับหมื่นล้านบาทอีกครั้ง โดยมาจากสื่อทีวี 50% และอื่นๆ (ธุรกิจใหม่ๆ) 50% จากปัจจุบันรายได้หลักยังเป็นสื่อทีวี 80% และ 20% มาจากการขายลิขสิทธิ์และดิจิทัล






กำลังโหลดความคิดเห็น