เงินเฟ้อก.ย.65 เพิ่มขึ้น 6.41% ชะลอตัวลงชัดเจน หลังพุ่งสูงสุดเมื่อเดือนส.ค. เผยแม้ชะลอตัว แต่สินค้าภาพรวมยังสูงขึ้น ทั้งกลุ่มพลังงาน ไฟฟ้า ก๊าซ เนื้อสัตว์ ผักสด คาดไตรมาส 4 เงินเฟ้อยังลดต่อ จับตาท่องเที่ยว ส่งออก ราคาสินค้าเกษตรดี น้ำมันผันผวน บาทอ่อน จะเป็นตัวกดดัน ส่วนทั้งปีคาดอยู่ในกรอบ 5.5-6.5% ค่ากลาง 6%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.ย.2565 เท่ากับ 107.70 เทียบกับส.ค.2565 เพิ่มขึ้น 0.22% เทียบกับเดือนก.ย.2564 เพิ่มขึ้น 6.41% เป็นการลดลงจากเดือนส.ค.2565 ที่สูงขึ้นถึง 7.86% ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เคหสถาน และเครื่องประกอบอาหาร ประกอบกับฐานดัชนีที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ระดับสูง ซึ่งถือว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลงตามที่คาดการณ์เอาไว้ ส่วนเงินเฟ้อรวม 9 เดือนปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) เพิ่มขึ้น 6.17% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 103.73 เพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.2565 และเพิ่มขึ้น 3.12% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2564 และเฉลี่ย 9 เดือนเพิ่มขึ้น 2.26%
ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 6.41% มาจากการขยายตัวของสินค้าในกลุ่มพลังงาน เพิ่ม 16.10% ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แม้ว่าราคาจะลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ราคายังคงสูงกว่าเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และยังมีการเพิ่มขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชาย ยาสีฟัน แชมพู) ค่าโดยสารสาธารณะ การศึกษา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ สุรา) ยังสูงกว่าปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้สินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 4.10% ส่วนสินค้ากลุ่มอาหารสด เพิ่ม 10.97% ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ (เนื้อสุกร ไก่สด) ไข่ไก่ ผักสดและผลไม้ (พริกสด ผักคะน้า กะหล่ำปลี ส้มเขียวหวาน แตงโม มะม่วง) ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และเครื่องประกอบอาหาร ราคาเริ่มชะลอตัว แต่ยังคงสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 9.82%
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง เช่น แป้งผัดหน้า น้ำยารีดผ้า ค่าส่งพัสดุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า รวมถึงข้าวสารเหนียว มะพร้าวผล ขูด มะขามเปียก กล้วยหอม และอาหารโทรสั่ง เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะยังชะลอตัวลง ตามต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ที่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบและอาหารโลกที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับฐานราคาที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน และมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐที่อาจจะมีเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี แต่การบริโภคในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยว การส่งออก และรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับดี ผลผลิตทางการเกษตรที่เข้าสู่ตลาดน้อยจากฝนตก ราคาพลังงานโลกที่ผันผวน และเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยที่ทำให้การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่จำกัด แต่กระทรวงพาณิชย์ยังคาดเงินเฟ้อทั้งปี 2565 อยู่ระหว่าง 5.5-6.5% ค่ากลาง 6% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย