xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยเบฟ” ทุ่ม 8 พันล้านลุยปี 66 ไม่เน้นซื้อธุรกิจเพิ่ม-รุกตลาดอีวี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - “ไทยเบฟ” เปิดเกมรุกปี 2566 อัดงบลงทุนไม่เกิน 8,000 ล้านบาท แม้น้อยกว่าช่วงที่ผ่านมา หันมุ่งเน้นสร้างผลลัพธ์เชิงบวกกับธุรกิจที่ไล่ซื้อมาก่อนหน้านี้จำนวนมาก พร้อมรุกเข้าตลาดอีวีแบบครบวงจร

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่ม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางแผนการลงทุนในปีงบประมาณ 2566 (1 ตุลาคม 2565-30 กันยายน 2566) โดยตั้งงบการลงทุนไว้ประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะน้อยกว่าช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากต้องการที่จะหันกลับมามุ่งเน้นการดำเนินการในส่วนของธุรกิจที่ซื้อกิจการและขยายมาก่อนหน้านี้มาจำนวนมากแล้ว ให้เกิดผลลัพธ์ของการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และต้องการการเติบโตแบบยั่งยืน และเติบโตแบบธรรมชาติหรือออร์แกนิกโกรวธ์ (Organic Growth) มากกว่าการไปซื้อกิจการใหม่ๆ เข้ามาอีก

โดยงบลงทุนหลักๆ นั้นจะมุ่งเน้นเรื่องของการสร้างและขยายศักยภาพด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ระบบโลจิสติกส์ อินโนเวชัน ต่างๆ รวมไปถึงการเน้นธุรกิจที่เกี่ยวกับเฮลท์แอนด์เวลเนส ในกลุ่มของธุรกิจที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ที่จะขยายมากขึ้นด้วย

นอกจากนั้นยังมีความสนใจในเรื่องอีวีทั้งระบบ เช่น การเปิดบริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งอาจะเปิดในทำเลหลากหลายทั้งในพื้นที่ของธุรกิจในเครือทั้งอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ และร้านอาหารในเครือด้วย อาทิ เคเอฟซี คาดว่าจะเริ่มได้ในต้นปีหน้า (2566) เบื้องต้นได้ทดลองติดตั้งหัวชาร์จรถอีวีที่ร้านเคเอฟซีแล้ว 2 แห่ง จะเปิดบริการในปลายปี 65 นี้


ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างมากในช่วงนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจจะทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจในภาพรวมสูงขึ้น แต่ในส่วนของกลุ่มไทยเบฟเองนั้นไม่ค่อยมีผลกระทบมากนัก เนื่องจากเราใช้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และมีการทำสัญญาซื้อขายกันล่วงหน้าอยู่แล้ว ส่วนระยะยาวหากส่งผลกระทบจนไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้อาจจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าไปในทิศทางเดียวกับการปรับขึ้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการ และเป็นแนวทางปกติของสรรพสามิตที่จะดำเนินการขึ้นภาษีในช่วงที่ราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เพื่อบริหารจัดการรายได้ของรัฐ แต่ต้องจับตาอัตราภาษีใหม่ที่จะนำมาใช้ เพราะราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องให้สถานการณ์เงินเฟ้อขยายตัวมากขึ้น

ส่วนประเด็นเรื่องของการที่แฟรนไชซีรายหนึ่งของเคเอฟซีในไทยที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่าจะขายสิทธิแฟรนไชส์นั้น นายฐาปนกล่าวว่า เราเปิดกว้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับทางยัมส์ ที่เป็นเจ้าของแบรนด์เคเอฟซี

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผ้ํบริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่า ต้องมองใน 2 ประเด็นหลัก คือ นโยบายของทางยัมส์ฯ ต้องการสร้างสมดุลทางธุรกิจเคเอฟซีจึงแยกให้มี 3 แฟรนไชซีใหญ่ และอีกเรื่องคือ เราเองก็มองว่าที่ผ่านมาเราทำมา 4 ปีแล้ว เราก็สามารถโตได้ด้วยตัวเอง จากเดิมที่ซื้อสิทธิตอนแรกมี 250 สาขา ขณะนี้เราขยายมาได้มากถึง 410 สาขาแล้ว เราใช้งบลงทุนของเราเองเท่านี้ก็สร้างการเติบโตขึ้นมาได้ ไม่จำเป็นต้องเอามาเพิ่มอีก และสามารถขยายการลงทุนด้วยงบที่น้อยกว่าการไปซื้อมาเพิ่มอีกด้วย

ทั้งนี้ ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2565 (สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565) ของทั้งกลุ่มมีประมาณ 207,922 ล้านบาท เติบโต 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งยอดขายในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันของสามปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ของตลาดกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและการบริหารตราสินค้าของเราประสบความสำเร็จ โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี เติบโต 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 39,110 ล้านบาท

“ปีนี้ประเทศไทยและเวียดนามซึ่งเป็นตลาดหลักทั้งสองแห่งของเรา ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ซึ่งรวมถึงข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศและมาตรการทางสังคม จึงทำให้ผลประกอบการทั้งกลุ่มเติบโตขึ้น”

สำหรับผลประกอบการแต่ละกลุ่มนั้น กลุ่มธุรกิจสุราในประเทศยังคงมีความแข็งแกร่ง และรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้ดี โดยรวงข้าวยังคงเป็นสุราขาวอันดับหนึ่ง ควบคู่กับหงส์ทอง สุราสีอันดับหนึ่งของประเทศไทย หากดูผลการวิจัยช่วง 12 เดือนย้อนหลัง แสงโสมสามารถเติบโตได้ถึง 9% เนื่องจากความแข็งแรงของตราสินค้า ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในประเทศไทยฟื้นตัว ซึ่งมีส่วนช่วยให้ตลาดสุรา โดยเฉพาะสุราสีในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้น

ผลประกอบการของธุรกิจเบียร์มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม โดยรายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจเบียร์เพิ่มขึ้น 15.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 92,573 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565

ธุรกิจเบียร์มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เติบโต 26.5% เป็น 13,446 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายและส่วนประสมของผลิตภัณฑ์ที่เอื้ออำนวย รวมถึงการขึ้นราคาและมาตรการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีรายได้จากการขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เป็นจำนวน 12,826 ล้านบาท เติบโต 9.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน อันเป็นผลจากปริมาณขายที่เติบโต 8.4% ท่ามกลางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เติบโต 5.4% เป็น 1,717 ล้านบาท
 
ด้านธุรกิจอาหารในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขายเติบโต 38.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 11,990 ล้านบาท เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในร้านอาหาร และการขับเคลื่อนการดำเนินกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความสามารถในการเจาะตลาดและเข้าถึงลูกค้า รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของร้านอาหารในกลุ่มธุรกิจอาหาร ทำให้ธุรกิจมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เป็นจำนวน 1,578 ล้านบาท เติบโต 104.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น