ศาลอาญาทุจริตยกฟ้องคดี "บีทีเอส" ฟ้อง กก.คัดเลือกฯ สายสีส้ม และผู้ว่าฯ รฟม. กรณีเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ชี้หลักฐานไม่มีน้ำหนักพิสูจน์ว่าเอื้อประโยชน์เอกชนรายใดรายหนึ่ง และ กก.มาตรา 36 มีอำนาจ ด้านบีทีเอสไม่ถอย ใช้สิทธิอุทธรณ์ ยันต้องหาความเป็นธรรมและข้อยุติที่เป็นบรรทัดฐานยอมรับได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 27 กันยายน 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอ่านคำพิพากษาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โจทก์ และนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ กับพวกรวมกัน 7 คน จำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ โดยมีคำพิพากษายกฟ้อง
โดยโจทก์ฟ้องสรุปได้ว่า คณะรัฐมนตรีประชุมมีมติอนุมัติดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต่อมา รฟม. โดยคณะกรรมการคัดเลือกร่วมกันเห็นชอบกับร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก วิธีการ และหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอทางการเงินสูงสุดในการตัดสินเอกชนผู้ชนะการประมูล โจทก์ซื้อซองข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว
ต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าการ รฟม. ร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบร่วมประชุมแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอตามเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ร่วมกันพิจารณาอนุมัติให้แก้ไขหลักเกณฑ์วิธีการประเมินข้อเสนอในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนใหม่ โดยให้ใช้กณฑ์การประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ร่วมกับข้อเสนอทางการเงิน หรือการประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price Performance)
ต่อมาเมื่อครบกำหนดเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 กลับไม่เปิดซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอเพื่อดำเนินการคัดเลือกต่อไป รฟม. โดยจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการคัดเลือกได้ประชุมกันแล้วมีมติยกเลิกประกาศเชิญชวนดังกล่าวโดยมิชอบ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงเป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 165, 83, 90, 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ดุลพินิจพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอใหม่ โดยให้พิจารณาคะแนนด้านเทคนิค และการลงทุนและผลตอบแทนร่วมกัน โดยกำหนดสัดส่วนการให้คะแนนด้านเทคนิคเป็นร้อยละ 30 คะแนน ด้านการลงทุนและผลตอบแทนเป็นร้อยละ 70 คะแนน หากผู้ยื่นข้อเสนอรายใดผ่านการประเมินสูงสุดและได้รับการประเมินให้เป็นผู้ชนะการคัดเลือก เพื่อประโยชน์ของรัฐตามความต้องการของ รฟม.
ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 38(6) และ (7) ประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เรื่องรายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ข้อ 12 การสงวนสิทธิ์ของ รฟม. ข้อ 12.2 กำหนดว่า สงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมรายละเอียด รวมถึงลดหรือขยายระยะเวลาของการคัดเลือกตามประกาศเชิญชวนข้อเสนอฉบับนี้ เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของ รฟม. และมติคณะรัฐมนตรี และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ข้อ 17 ประกอบกับขณะลงมติเห็นชอบนั้นยังไม่ถึงกำหนดระยะเวลายื่นซองข้อเสนอ จึงไม่ทำให้ผู้ยื่นเอกสารข้อเสนอได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกได้ขยายระยะเวลาออกจากกำหนดยื่นข้อเสนอเดิมอีก 45 วัน เพื่อให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้มีเวลาจัดเตรียมข้อมูลข้อเสนอเพิ่มเติมอีก พยานหลักฐานยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่ง
ส่วนประเด็นที่จำเลยที่ 1 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนนั้น เห็นว่าคณะกรรมการคัดเลือกใช้ดุลพินิจพิจารณายกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน จากนั้นจำเลยที่ 1 ออกประกาศเรื่องยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามมติคณะกรรมการคัดเลือก โดยไม่มีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ หรือการกระทำที่นอกขอบเขตแห่งกฎหมายหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ประกอบกับการสงวนสิทธิของ รฟม.ตามประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารฯ เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ (RFP) ที่กำหนดการสงวนสิทธิของ รฟม. ในข้อ 12.1 ว่า รฟม.สงวนสิทธิตามดุลพินิจที่จะยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ โดยที่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใดๆ ได้
จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อีกทั้งการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดไม่ได้เป็นกรณีที่มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่ง ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
@บีทีเอสไม่ถอย ยันใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อ หาความเป็นธรรมและข้อยุติที่เป็นบรรทัดฐาน
ด้านนายธงชัย พรเศรษฐ์ หัวหน้าคณะทนายความของบีทีเอส กล่าวว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเบื้องต้นศาลเห็นว่าการปรับเกณฑ์คัดเลือกฯ สายสีส้ม คณะกรรมการมาตรา 36 และ รฟม.มีอำนาจสามารถทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่บีทีเอสได้ยื่นคำแย้งไป ดังนั้น เมื่อศาลมีคำพิพาษาออกมา ทางบีทีเอสจะใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ โต้แย้ง คัดค้านคำพิพากษาแน่นอน ซึ่งบีทีเอสยังเชื่อมั่นในพยานหลักฐานที่นำเสนอ
โดยจะรอคำสั่งศาลที่เป็นทางการ ซึ่งจะมีคำพิพากษาโดยละเอียดหลังจากนี้ประมาณ 10 วันทำการ และคณะทำงานทางกฎหมายของบีทีเอสจะร่วมกันพิจารณา ว่ายังมีกรณีหรือประเด็นใดที่ยังไม่เห็นด้วย และยังไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการต่อไป โดยใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ ตามกำหนดยื่นภายใน 1 เดือนนับจากมีคำพิพากษา แต่เนื่องจากในคำพิพากษาจะมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อาจจะใช้สิทธิขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ออกไป ส่วนจะขยายไปแค่ไหน จะขอพิจารณาข้อเท็จจริงในเรื่องพยานเอกสารที่มีจำนวนมากก่อน
“ต้องยอมรับว่าการประมูลสายสีส้มที่มีข้อพิพาท หรือการดำเนินกระบวนการ มีเรื่องที่ปรากฏออกมาทางสื่อในแง่มุมต่างๆ มากมาย ซึ่งบีทีเอสจะพยายามหาข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อยื่นอุทธรณ์ และเพื่อให้เรื่องนี้มีข้อยุติที่เป็นบรรทัดฐานที่ยอมรับกันได้ และแสวงหาความเป็นธรรม และโครงการนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ประเทศ ในฐานะบีทีเอสเป็นบริษัทเอกชนที่ทำงานมีธรรมาภิบาลมาตลอด จึงจะต่อสู้ถึงที่สุด”
@รฟม.คาดสรุปผลพิจารณาเสนอ ครม.ในปีนี้
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ สายสีส้มอยู่ระหว่างพิจารณา หลังได้เปิดข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน คาดว่าจะสรุปและเสนอผลการพิจารณาในเดือน ต.ค.นี้ และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบและคาดว่าจะลงนามสัญญากับผู้ได้รับคัดเลือกฯ ได้ภายในปีนี้