วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันมังสวิรัติโลก (World Vegetarian Day) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนตระหนักถึงข้อดีจากการกินอาหารประเภทพืชผักและปราศจากเนื้อสัตว์ โดยนอกเหนือจากเรื่องความเมตตาต่อสัตว์แล้ว ยังมีประโยชน์ดีๆ ต่อสุขภาพและของโลกของเราด้วย แม้ว่าการรับรู้เกี่ยวกับวันมังสวิรัติโลกในกลุ่มคนไทยจะยังค่อนข้างจำกัด แต่ความนิยมเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่หันมารับประทานอาหารคลีน รับประทานผักกันมากขึ้น ทำให้สินค้ากลุ่มแพลนต์เบสมีต (Plant-based meat) ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กอปรกับการที่ภาคธุรกิจต่างก็นำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ก็เป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นในการเติบโตของธุรกิจอาหารประเภทแพลนต์เบสในประเทศไทย
จากผลการวิจัยโดยมาร์เก็ตบัซซ ในกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ในเดือนสิงหาคม 2565 จำนวนทั้งหมด 1,000 คน เกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารในปัจจุบันของคนไทย พบว่า 68% เป็นผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์เป็นปกติ และที่เหลือกว่าหนึ่งในสามเป็นผู้ที่รับประทานอาหารทางเลือกอื่นๆ โดยเน้นการรับประทานผักเป็นส่วนใหญ่ เช่น กลุ่มวีแกนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ทุกประเภท รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์ทุกชนิด (Vegan) 14%, กลุ่มมังสวิรัติยืดหยุ่น ที่รับประทานอาหารจากพืชและเนื้อสัตว์เป็นครั้งคราว (Flexitarian) 7%, กลุ่มมังสวิรัติที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์เลย แต่รับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้ (Vegetarian) 6% และกลุ่มมังสวิรัติที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ แต่รับประทานเนื้อปลา และอาหารทะเลอื่นๆ (Pescetarian) 4%
เมื่อถามถึงแนวโน้มในการรับประทานอาหารในอนาคตกว่า 65% ของคนไทยมีความตั้งใจที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง และกลุ่มผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากความต้องดูแลสุขภาพโดยรวม (41%) หรือปัจจัยเกี่ยวกับสุขภาพด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น เพื่อลดคอเลสเตอรอล / ไขมันในเลือด / ภาวะโรคหลอดเลือดสมอง / หัวใจ (29%), ลดปัญหาด้านระบบทางเดินอาหาร / ระบบย่อยอาหาร (29%) และเพื่อลดน้ำหนัก หรือควบคุมน้ำหนักตัว (19%) เป็นต้น นอกจากนี้ คนไทยอีกกว่า 19% ยังคิดว่าการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เป็นการลดการเบียดเบียน หรือลดการทารุณกรรมสัตว์อีกด้วย
มร.แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาร์เก็ตบัซซ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้แนวทางการบริโภคของผู้คนเปลี่ยนไป เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมาแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องปรับตัว และหันมาให้ความสำคัญต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากขึ้น และจากการที่ผู้บริโภคเริ่มหันมารับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ หรือหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเร่งการเติบโตของตลาดสินค้าแพลนต์เบสมีตในประเทศไทย ซึ่งเห็นได้จากจำนวนผู้เล่นในตลาด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ บริษัทผู้ผลิต หรือแบรนด์สินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ผลการวิจัยโดยมาร์เก็ตบัซซเปิดเผยว่า คนไทยกว่า 2 ใน 3 รู้จักหรือเคยได้ยินเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสมีต อย่างไรก็ตาม มีเพียง 36% เท่านั้นที่ทราบรายละเอียดของผลิตภัณฑ์นี้เป็นอย่างดี ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับจำนวนคนที่เคยบริโภคผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสมีตมาก่อน (39%) โดยสัดส่วนดังกล่าวจะสูงเป็นพิเศษในกลุ่มคนที่รับประทานมังสวิรัติ (89%) และรับประทานวีแกน (60%) รวมถึงในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี (52%) เช่นเดียวกัน ผลการวิจัยพบว่าปัจจัยหลักที่ทำให้คนหันมารับประทานผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสมีตนั้นคือ ความต้องการสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โปรตีน ไฟเบอร์ วิตามิน แร่ธาตุ เป็นต้น (30%) นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ (29%), ทำให้รู้สึกว่าเป็นคนทันสมัย (24%), รสชาติอร่อย ถูกปาก (23%) และความง่ายในการปรุง หรือประกอบอาหาร (22%)
สำหรับภาคธุรกิจนั้น กระแสลดการบริโภคเนื้อสัตว์ทำให้อาหารที่ผลิตจากพืชขายดีขึ้นเรื่อยๆ หลายบริษัทจึงต่างพากันนำเสนอสินค้าใหม่ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค และเป็นที่น่าสนใจว่าในปัจจุบันยังไม่มียี่ห้อใดที่เป็นผู้นำ หรือครองตลาดแพลนต์เบสมีตในไทยอย่างชัดเจน โดยจะเป็นการกระจายส่วนแบ่งทางการตลาดกันไป
อย่างไรก็ตาม ยี่ห้อที่ได้รับความนิยม และมีคนไทยรับประทานมากที่สุดคือ Meat Zero, OMG Meat, First Pride และ Let’s Plant Meat เมื่อถามถึงประเภทของอาหาร พบว่าเนื้อปลา/เนื้อกุ้งจากพืช เป็นประเภทอาหารที่คนอยากซื้อมากที่สุด รองลงมาคือ อาหารพร้อมรับประทาน (เช่น เมนูข้าว, สปาเกตตี, กับข้าว) ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบแช่เย็น หรือแช่แข็ง, เนื้ออกไก่, ไส้กรอก, เต้าหู้ปลา, เนื้อบดหรือหมูบด, ลูกชิ้น หรือมีตบอล และหมูกรอบ เป็นต้น
มร.แกรนท์ บาร์โทลี่ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจแพลนต์เบสเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เนื่องจากมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากฐานจำนวนผู้บริโภคที่มากขึ้นในแต่ละปี ดังนั้นโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจนี้จึงค่อนข้างเป็นไปในทิศทางบวก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เล่นในตลาดควรคำนึงถึงมากที่สุดคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสให้เหมือนเนื้อสัตว์มากที่สุด เพื่อทดแทนการใช้เนื้อสัตว์จริงในเมนูอาหารต่างๆ ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าสาเหตุหลักที่คนไม่รับปรพทานแพลนต์เบสมีตนั้น มาจากการที่สินค้าหาซื้อยาก / ช่องทางการจัดจำหน่ายน้อย (35%) และราคาที่ค่อนข้างสูง (34%)
ท่ามกลางกระแสความนิยมของอาหารแพลนต์เบสที่กำลังมาแรงในไทยนั้น แบรนด์และผู้ประกอบการต่างๆ จึงต้องตื่นตัวให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องช่องทางการขาย / การกระจายสินค้า เพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ การทำการตลาด เช่น การโปรโมตการรับรู้ (awareness) ความเข้าใจ และประโยชน์ที่จะได้รับจากการบริโภคในกลุ่มผู้บริโภคทั่วๆ ไป ไม่เฉพาะแต่กลุ่มคนที่รับประทานมังสวิรัติ, อาหารวีแกน หรือคนรักสุขภาพเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสนอทางเลือกในการรับประทานอาหารใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น
มร.แกรนท์ บาร์โทลี่ ยังได้กล่าวเสริมว่า แม้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ จะมีราคาสูงกว่าเนื้อสัตว์ปกติ อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ คำถามคือแล้วราคาที่เพิ่มขึ้นนั้น ควรเป็นราคาเท่าไหร่ที่ยังถือว่าเป็น “ราคาที่เหมาะสม” ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าผู้บริโภคยินดีจะจ่ายเงินแพงกว่าประมาณ 5-10% สำหรับผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสมีตเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ปกติ
นอกเหนือจากความนิยมในกลุ่มคนที่ต้องการดูแลสุขภาพในปัจจุบันแล้ว การเติบโตของตลาดแพลนต์เบสมีตนั้นยังต้องอาศัยการเปิดใจในกลุ่มผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์เป็นปกติอีกด้วย ดังนั้น การสร้างการรับรู้, การกระจายช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อให้สินค้าหาซื้อง่าย และการกำหนดราคาที่เหมาะสม จึงเป็นกลยุทธ์ที่แบรนด์ต่างๆ ควรคำนึงถึง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่ให้โอกาสทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่, รายเล็ก และรวมไปถึงธุรกิจสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมอาหารเช่นเดียวกัน