โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 อีกหนึ่งโปรเจกต์ไฮไลต์ในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งรัฐบาลต้องการขับเคลื่อนเพื่อให้มีการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) และประเทศจีนตอนใต้ โดยวางบทบาทเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค
โดยหลังจากที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) กับบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกัลฟ์ (40%) ร่วมกับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด หรือ PTT TANK (30%) บริษัท เชค โอเวอร์ซี อินฟราสตรัคเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (30%) ไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564
กทท.มีภารกิจสำคัญในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทจีพีซีฯ ภายใน 2 ปีหลังลงนามสัญญา หรือภายใน พ.ย. 2566 แต่พบว่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในช่วงเริ่มต้นมีความล่าช้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
@ดีเลย์ตั้งแต่เริ่ม ต้องปรับแผนงานถมทะเล 2.1 หมื่นล้านบาท เร่งสปีดส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 กทท.ได้ลงนามสัญญากับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.พริมามารีน บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) วงเงิน 21,320 ล้านบาท เป็นผู้รับจ้าง การก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่นวงเงิน 21,320 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี โดยออกหนังสือเริ่มงาน (NTP) เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564
ตามเงื่อนไขสัญญากำหนด Key Date การทำงานออกเป็น 3 ช่วง ซึ่ง Key Date ที่ 1 ขีดเส้นภายใน 5 พฤษภาคม2565 ต้องส่งพื้นที่ถมทะเลในโซน A จำนวน 3 แสนลูกบาศก์เมตร แต่พบว่าครบเวลากลับทำได้จริงเพียง 3 หมื่นลูกบาศก์เมตรเท่านั้น กทท.จึงปรับแผนการทำงานใหม่ ขยับส่งมอบงาน Key Date ที่ 1 ออกไปเป็นเดือน ส.ค. 2565
กระทบมาถึง Key Date ที่ 2 ที่กำหนดในเดือน พ.ย. 2565 ต้องส่งมอบพื้นที่ถมทะเลอีก 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องปรับแผนใหม่ เลื่อนเป็นเดือน ธ.ค. 2565
ส่วน Key Date ที่ 3 กำหนดภายใน 2 ปี หรือในปี 2566 เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท จีพีซีฯ ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เข้าดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ลานวางตู้ อาคารสำนักงาน ติดตั้งเครื่องมือ เพื่อเปิดดำเนินการในปลายปี 2568 ตามกำหนด
@เพิ่มเรือขุด 2 ลำ ลุยถมทะเล มั่นใจแล้วเสร็จส่งมอบได้ครบปี 68
“เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข” ผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ว่า ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งก ทท.ดำเนินงานเอง กรอบวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4 งาน ได้แก่ 1. งานทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเลสร้างเขื่อนกันคลื่น กทท.ได้จ้างเหมากิจการร่วมค้าซีเอ็นเอ็นซีเป็นผู้ดำเนินโครงการฯ ในวงเงิน 21,230 ล้านบาท ขณะนี้ผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานก่อสร้างงานทางทะเลในส่วนของงานพื้นที่ถมทะเล 1 (Key Date 1)เรียบร้อยแล้ว หลังปรับแผนจากเดือน พ.ค. 65 เป็นเดือน ส.ค. 65 ซึ่งสามารถทำได้ตามแผนงานใหม่
ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินงานพื้นที่ถมทะเล 2 (Key Date 2) ได้แก่ การขนย้ายดินเลน การถมทราย ฯลฯ คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ กทท.ได้ภายในสิ้นปี 2565
นอกจากนี้ กิจการร่วมค้าซีเอ็นเอ็นซีฯ มีแผนที่จะเพิ่มเรือขุดลอกอีก 2 ลำ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการขุดมากกว่าเดิม อีกทั้งเร่งรัดก่อสร้างหลักผูกจอดเรือชั่วคราวเพื่อนำหินไปก่อสร้างคันหินล้อมพื้นที่ท่าเทียบเรือ E0 ท่าเทียบเรือ F ท่าเรือบริการ และท่าเรือชายฝั่งของโครงการ ปัจจุบันหลักผูกจอดเรือชั่วคราวจุดที่ 1 และ 2 พร้อมใช้งานแล้ว ส่วนหลักผูกจอดเรือชั่วคราวจุดที่ 3 และ 4 จะพร้อมใช้งานภายในเดือน ก.ย. 2565
สำหรับพื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date 3) และการส่งมอบพื้นที่ท่าเทียบเรือ F 1,000 เมตร ให้บริษัท จีพีซีฯ เอกชนคู่สัญญาสามารถส่งมอบได้ภายในกลางปี 2566 และส่งมอบพื้นที่ครบ 2,000 เมตร ประมาณพฤษภาคม 2568 ตามสัญญาจ้าง กิจการร่วมค้าซีเอ็นเอ็นซี
สำหรับส่วนที่ 2 งานจ้างเหมาก่อสร้างโครงการฯ ได้แก่ งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค มีวงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาทนั้น กทท.จะเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามแผนงาน ซึ่งอยู่ระหว่างประกาศ TOR ประมูล ได้ตัวผู้รับจ้างเดือน ธ.ค. 2565
งานที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ วงเงิน 900 ล้านบาท และ 4. งานจัดหาประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ วงเงิน 2,200 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. 2565 ตามลำดับ
@แหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเรืออัตโนมัติเต็มรูปแบบ
รัฐบาลทุ่มงบในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุน รวม 1.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กทท. ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 50,000 ล้านบาท ขณะที่เอกชนลงทุน 60,000 ล้านบาท เป้าหมายเพิ่มขีดสามารถรองรับความจุตู้สินค้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 11 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี โดยมี 5 ท่าเทียบเรือ ได้แก่ F 1-F2 และ E0-E1-E2
บริษัทจีพีซีฯ เป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนฯ พัฒนาท่าเทียบเรือ F มีมูลค่าการลงทุนในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างหน้าท่าจำนวน 30,871 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี รองรับตู้สินค้า 4 ล้านทีอียู และใช้ระบบ Automation เป็นท่าเรืออัตโนมัติ (Electronics Port: e-Port) เต็มรูปแบบ
ผอ.กทท.มั่นใจว่าจะทยอยส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทจีพีซีฯ เริ่มบริหารจัดการ งานระยะที่ 3 ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 ตามสัญญาร่วมลงทุนฯ โดยมีเป้าหมายเปิดให้บริการท่าทียบเรือ F1 ภายในปี 2568 รองรับได้ 2 ล้านทีอียู ซึ่งจะทำให้ ทลฉ.มีขีดความสามารถรองรับสินค้าได้รวม 13.1 ล้านทีอียูต่อปี จากปัจจุบัน 11.1 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งหากประเมินตามอัตราเติบโตของปริมาณตู้สินค้าเฉลี่ยปีละ 5% คาดการณ์ว่าปี 2568 ตู้สินค้าจะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านทีอียูต่อปี มาที่ 11 ล้านทีอียู ซึ่งเกือบเต็มศักยภาพของระยะที่ 2”
หลังพัฒนาพื้นที่โซน F คาดว่าหลังจากนั้นจะนำพื้นที่ส่วน E 1-E2 พื้นที่ประมาณ 668 ไร่ เปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการส่วนจะเป็นช่วงใดนั้น จะประเมินให้สอดคล้องกับการเติบโตของปริมาณตู้สินค้า โดยคาดว่าการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการครบสมบูรณ์ในปี 2578
@18 ท่าเทียบเรือ บริหารโดย 12 ผู้ประกอบการแถวหน้าของโลก
ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าหลัก จึงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีรูปแบบการบริหารจัดการโดยการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือ PPP ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ โดย กทท.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนลงทุนในส่วนของเครื่องมือ อุปกรณ์ ปัจจุบัน ทลฉ.มีพื้นที่อาณาเขตทางน้ำ 52 ตร.กม. มีพื้นที่บริการรวม 8,752 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทางบก 6,341 ไร่ พื้นที่ถมทะเล 2,411 ไร่ มี 18 ท่าเทียบเรือ บริหารโดย 12 ผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับท็อป 5 ของโลก ได้แก่ กลุ่มฮัทชิสัน, เอเวอร์กรีน, NYK, DP World (ดูไบ) เป็นต้น
และมี 1 ท่าที่การท่าเรือฯ บริหารเอง คือท่าเทียบเรือ A (ท่าเรือชายฝั่ง)
เปิดให้บริการ ระยะที่ 1 เมื่อปี 2534 ความลึกแอ่งจอดเรือ 14 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ร่องน้ำกว้าง 400 เมตร ยาว 1,600 เมตร รองรับเรือขนาด 50,000 เดทเวทตัน ขีดความสามารถ 4.3 ล้านทีอียูต่อปี มีทั้งหมด 12 ท่าเทียบเรือ ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือ A0 - A5, ท่าเทียบเรือ B1-B5
ระยะที่ 2 เปิดบริการปี 2543 ความลึกแอ่งจอดเรือ 16 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ร่องน้ำกว้าง 500 เมตร ยาว 1,680 เมตร รองรับเรือขนาด 80,000 เดทเวทตัน (รับเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ 14,000 ตู้ต่อลำ) มีขีดความสามรถ 6.8 ล้านทีอียูต่อปี มีทั้งหมด 7 ท่าเทียบเรือ ประกอบด้วย ท่า C0 (Ro-Ro Terminal) ท่าเรือขนส่งรถยนต์, ท่า C1 -C3 และ D1 -D3
ระยะที่ 3 ความลึกแอ่งจอดเรือ 18.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แอ่งจอดเรือกว้าง 920 เมตร รับเรือขนาดใหญ่ถึง 400 เมตรได้ มีขีดความสามารถที่ 7 ล้านทีอียูต่อปี โดยในช่วงแรกเป็นการพัฒนาท่าเทียบเรือ F1-F2 ความยาวหน้าท่ารวม 2,000 เมตร รองรับ 4 ล้านทีอียูต่อปี กำหนดเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ F1 ปี 2568 รองรับ 2 ล้านทีอียูต่อปี และเปิดบริการท่าเทียบเรือ F2 ปี 2572 รองรับอีก 2 ล้านทีอียูต่อปี ในอนาคตจะพัฒนาท่าเทียบเรือ E1 -E2 ความยาวหน้าท่ารวม 1,500 เมตร รองรับ 3 ล้านทีอียูต่อปี เปิดให้บริการสมบูรณ์ในปี 2578
@ยืนหยัดฝ่าโควิด ผลประกอบการ ตู้สินค้า เติบโตต่อเนื่อง
ในแง่ผลประกอบการนั้น ท่าเรือแหลมฉบังมีอัตราการเติบโตทั้งจำนวนเรือเทียบท่า ปริมาณตู้สินค้า และรายได้ แม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564
โดยพบว่าปี 2563 มีเรือสินค้าผ่านท่า 11,092 เที่ยว มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า 7.64 ล้านทีอียู มีรถยนต์ผ่านท่า 8.66 แสนคัน มีรายได้ 8,342.30 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 2,288.05 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,043.25 ล้านบาท
ส่วนปี 2564 มีเรือสินค้าผ่านท่า 11,041 เที่ยว มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า 8.41 ล้านทีอียู เติบโต 10% มีรถยนต์ผ่านท่า 1.06 ล้านคัน เติบโต 22% มีรายได้ 8,844.61 ล้านบาท เติบโต 6% ค่าใช้จ่าย 1,867.24 ล้านบาท เติบโต 22% มีกำไรสุทธิ 6,175.27 ล้านบาท เติบโต 2%
ปี 2565 (รอบ 9 เดือน) มีเรือสินค้าผ่านท่า 7,517 เที่ยว มีปริมาณตู้สินค้า 6.56 ล้านทีอียู เติบโต 5.81%
@ เพิ่มสัดส่วนบริการตู้สินค้าถ่ายลำ มุ่งสู่ “ฮับและเกตเวย์ของภูมิภาค”
“เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข” กล่าวว่า ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณตู้สินค้าประมาณ 8.5 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งนับเป็นท่าเรือที่มีปริมาณตู้สินค้าในอันดับที่ 20 ของโลก โดยมีท่าเรือขนส่งรถยนต์ 3 ท่ารองรับได้สูงสุด 2 ล้านคันต่อปี ถือเป็นอันดับ 5 ของโลก
ในขณะที่ท่าเรืออันดับ 1 อย่างจีน หรือท่าเรืออันดับ 2 ของสิงคโปร์ ที่มีปริมาณตู้สินค้าถึง 37 ล้านทีอียู แต่เป็นตู้สินค้าถ่ายลำ สูงกว่า 32 ล้านทีอียู เนื่องจากเป็นท่าเรือ Transshipment & Transit เป็นจุดแวะพักสินค้าเพื่อต่อเรือใหญ่สู่ท่าเรือปลายทางอีกที ส่วนท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือปลายทางที่ตู้สินค้าส่วนใหญ่จะนำเข้าเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศเกือบทั้งหมด
โดยมีตู้ Transshipment ประมาณ 53,000 ทีอียูต่อปี หรือประมาณ 1% เท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณทั้งหมด 8.5 ล้านทีอียู
หากอาศัยเพียงปัจจัยความต้องการบริโภคภายในประเทศ ตู้สินค้าอาจจะเติบโตในระดับไม่มากนัก และอาจจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่เมื่อเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ F ปี 2568 จะเพิ่มขีดความสามารถเป็น 13.1 ล้านทีอียู
ดังนั้น ท่าเรือแหลมฉบังจึงมุ่งเพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ถ่ายลำเพื่อก้าวสู่ท่าเรือ Transshipment & Transit โดยได้ มีการตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงกฎ ระเบียบต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้มีการ transshipment & Transit มากขึ้น
เพื่อเป้าหมายเป็น "ฮับและเกตเวย์ของภูมิภาค" หมายถึงเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายตู้สินค้า โดยเมื่อตู้สินค้ามาถึงท่าเรือจะเชื่อมโยงการขนส่งเข้ามาในประเทศด้วยระบบรางเป็นหลักเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจราจร และกระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมา และจีนตอนใต้ หรือใช้การขนส่งต่อโดยการถ่ายลำเดินเรือในแม่น้ำ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ
“เป็นการเพิ่มปริมาณขนส่งสินค้าทางราง และสนับสนุนธุรกิจโลจิสติกส์ เพิ่มประโยชน์การขนส่งทางน้ำภายในประเทศ”
ด้วยข้อได้เปรียบของที่ตั้งประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางในทวีปเอเชีย จากเหนือสู่ใต้ เชื่อมจีน สู่มาเลเซีย จากตะวันออก-ตะวันตก (เวียดนาม-เมียนมา) และตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย จึงเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดของการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงอาเซียนและเชื่อมโยงโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ไทยจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเอเชียในทศวรรษนี้ และท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณตู้สินค้าก้าวสู่ในอันดับท็อป 10 ของโลก!!!