สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (sacit) โชว์ผลสำเร็จในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยสู่เชิงพาณิชย์ เผยการจัด 3 งานใหญ่ส่งท้ายปีงบประมาณทำยอดขายรวมกว่า 218 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าปลุกกระแสการใช้สินค้าหัตถศิลป์ไทยผ่านคนดัง Friend of sacit และไมโครอินฟลูเอนเซอร์ เจาะกลุ่ม Gen Y
นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (sacit) เปิดเผยว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีงบประมาณ 2565 sacit ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายงานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ช่างฝีมือและผู้ประกอบการด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงคุณค่าและมูลค่า ผ่านกิจกรรมสำคัญๆ ได้แก่ งานอัตลักษณ์แห่งสยาม และงาน Crafts Bangkok 2022, งาน sacit เพลินคราฟต์ และงาน sacit craft fair 2022 ซึ่งรวมยอดขายและกระตุ้นเศรษฐกิจภาคงานศิลปหัตถกรรมไทยรวม 218,405,871 ล้านบาท แยกเป็น ยอดจำหน่ายในงานอัตลักษณ์แห่งสยาม และงาน Crafts Bangkok 2022 รวม 157 ล้านบาท, งาน sacit เพลินคราฟต์ รวม 30,731,768 บาท และงาน sacit craft fair 2022 รวม 30,674,103 บาท ซึ่งเป็นการผลักดันงานศิลปหัตถกรรมไทยสู่เชิงพาณิชย์อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถผลักดันและสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมไทยได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ การจัดงานที่ผ่านมายังสะท้อนได้ว่าประชาชนทุกช่วงวัยหันมาให้การตอบรับงานศิลปหัตถกรรมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพบว่ามีผู้ให้ความสนใจเข้าชมงานแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย ซึ่งทำให้มั่นใจว่างานศิลปหัตถกรรมจะยังคงอยู่ต่อไป และยังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดย sacit จะเดินหน้าเฟ้นหาผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย และนำมาเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งปัจจุบันรวบรวมแล้วกว่า 434 ราย (ครูศิลป์ฯ 105 ราย / ครูช่างฯ 242 ราย / ทายาทฯ 87 ราย) โดยนำบุคคลเหล่านี้มาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาดและสอดคล้องกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยยังคงคุณค่าในภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมา แต่ปรับรูปแบบและวิธีการนำเสนอให้สอดคล้องกับตลาดในปัจจุบัน
นอกจากนี้ sacit ยังให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและสร้างวัฒนธรรมในงานศิลปหัตถกรรมไทยไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยเร่งส่งเสริมและพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างสร้างสรรค์ ที่สอดคล้องกับนโยบาย Creative Economy ของกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งสร้างผู้ประกอบการให้มีศักยภาพ มีความสามารถแข่งขันในตลาดสากล ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเน้นการพัฒนาอย่างสมดุล และยั่งยืนบนพื้นฐานความได้เปรียบของประเทศ ทั้งในด้านความหลากหลายของวัฒนธรรม และภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมที่สามารถนำมาต่อยอดในเชิงสร้างสรรค์ได้
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดแนวนโยบาย Soft Power ให้ไทยไปผงาดอยู่บนเวทีโลกโดยอาศัยจุดแข็งของประเทศ เช่น ความโดดเด่นทางศิลปวัฒนธรรม เอกลักษณ์ของวิถีชีวิตและความเป็นไทยด้านต่างๆ ซึ่ง sacit ได้ขานรับแนวนโยบายและขับเคลื่อนภารกิจที่ครอบคลุมในการสร้างวัฒนธรรมงานศิลปหัตถกรรมไทยให้แก่สังคมไทย เพื่อมุ่งสร้างค่านิยมในการใช้ผลิตภัณฑ์งานศิลปหัตถกรรมให้แพร่หลาย ผ่านการสร้างสิ่งแวดล้อม (Ecosystems) ด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน และการเสริมสร้าง Soft Power ด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ มีเป้าหมายในการสื่อสารและสร้างค่านิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้สืบสานส่งต่อความเป็นไทย โดยเฉพาะในกลุ่มคน Gen Y ที่อยู่ในช่วงวัย 25-40 ปี ซึ่งมีบทบาทและอิทธิพลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
“ในอนาคต sacit จึงมีแนวทางในการดำเนินงานสร้างวัฒนธรรมการใช้ศิลปหัตถกรรมไทยในกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดความรัก หวงแหน และร่วมภาคภูมิใจ ปลุกกระแสความนิยมในงานศิลปหัตถกรรมไทย ผ่านกิจกรรมความบันเทิง และบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพล (Key Opinion Leader) ผ่านกิจกรรม Friend of sacit ที่สามารถเชื่อมต่อกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยการสร้างคอนเทนต์ สอดแทรกองค์ความรู้และภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทย เช่น การจัดงาน Craft Festival, การใช้สื่อโซเชียลเป็นช่องทางไปยังคนรุ่นใหม่ เช่น แพลตฟอร์ม Tiktok, Facebook, Instagram เพื่อสร้างให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เกิดทัศนคติที่ดี เกิดความภาคภูมิใจในงานศิลปหัตถกรรมไทยซึ่งเป็นภูมิปัญญาและรากฐานสำคัญอันเป็นอัตลักษณ์ของชาติ ซึ่งค่านิยมและวัฒนธรรมงานศิลปหัตถกรรมเหล่านี้จะถูกส่งต่อสร้างกระแสออกไปในผู้คนในสังคมได้เพื่อให้เกิดเครือข่ายงานศิลปหัตถกรรมไทยขนาดใหญ่ต่อไป” นายภาวีกล่าว