xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เดินหน้าปั้น Farm Outlet ดันเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตร-สินค้าชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการค้าภายในได้จัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน หรือ Farm Outlet มาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าชุมชน มีสถานที่จำหน่ายสินค้าโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ช่วยแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด แก้ปัญหาราคาตกต่ำ และช่วยเพิ่มรายได้ ซึ่งผลการดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันได้มีการจัดตั้ง Farm Outlet แล้วทั้งสิ้น 69 แห่ง ใน 40 จังหวัด

ปัจจุบันแต่ละ Farm Outlet มียอดจำหน่ายเฉลี่ยตกเดือนละ 50,000-1,500,000 บาท แล้วแต่ว่าจะเป็นร้านเล็ก ร้านใหญ่ อยู่ในแหล่งชุมชน หรือแหล่งท่องเที่ยว แต่ทุกร้านได้มีส่วนช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าชุมชน ให้มีที่จำหน่ายสินค้า ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจริง และยังเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว ที่จะได้เลือกซื้อสินค้าเกษตร หรือสินค้าชุมชน ที่เป็นของดี เด่น ดัง ในแต่ละพื้นที่ด้วย

คอนเซ็ปต์การจัดตั้ง Farm Outlet

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า แนวคิดในการจัดตั้ง Farm Outlet ต้องการผลักดันให้เป็นร้านจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรและชุมชน ที่กรมฯ จะเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง และเปิดโอกาสให้นำสินค้าที่ผลิตในชุมชน เช่น พืชผัก ผลไม้ สินค้าเกษตรแปรรูป หรือสินค้าที่เชื่อมโยงมาจาก Farm Outlet ของจังหวัดอื่นๆ มาจำหน่าย โดยมีทั้งสินค้าคุณภาพทั่วไป หรือสินค้าที่ได้คุณภาพมาตรฐานอินทรีย์ (Organic) ส่วนรูปแบบการซื้อสินค้าเข้ามาจำหน่ายใน Farm Outlet จะเป็นการซื้อสินค้าจากเกษตรกร ผู้ผลิตชุมชน เพื่อนำมาจำหน่าย จะมีทั้งรูปแบบการซื้อขาดและการฝากขาย แล้วแต่ตกลงกัน

ทั้งนี้ Farm Outlet แต่ละแห่งยังมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ สภาพแวดล้อม และบริบทของชุมชน เช่น Farm Outlet ที่ตั้งอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยว เช่น กระบี่ ระนอง กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม ตรัง สงขลา พังงา แม่ฮ่องสอน สระบุรี จะเป็นลักษณะร้านขายของฝาก และ Farm Outlet ที่ตั้งอยู่ในชุมชนหมู่บ้าน จะเป็นลักษณะขายสินค้าขั้นปฐม เพื่อซื้อนำไปประกอบอาหาร เช่น เชียงใหม่ นครสวรรค์ สมุทรสาคร ชุมพร และ Farm Outlet ที่มีการพัฒนา โดยมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าและมีศักยภาพพัฒนาถึงขั้นส่งออกไปต่างประเทศได้

เปิดแผนพัฒนา Farm Outlet

นายวัฒนศักย์กล่าวว่า ในการพัฒนา Farm Outlet กรมฯ มีแผนที่จะนำผู้ประกอบการ Farm Outlet ที่ประสบความสำเร็จ สถาบันการศึกษา และเครือข่าย MOC Biz Club มาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ หรือดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน แล้วเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ รูปแบบการทำธุรกิจ และให้นำไปปรับใช้ เพื่อขับเคลื่อน Farm Outlet ให้เติบโต เพื่อให้เป็นร้านค้าหรือเป็นศูนย์ในการจำหน่ายสินค้าเกษตร เกษตรอินทรีย์ และสินค้าชุมชนในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะช่วยประสานให้มีการนำสินค้านอกพื้นที่มาจำหน่ายใน Farm Outlet เช่น สินค้าจากตลาดต้องชม ที่มีอยู่ประมาณ 239 แห่ง สินค้าจากหมู่บ้านทำมาค้าขาย 35 แห่ง หรือจะนำสินค้าเกษตรจากพื้นที่อื่น ที่มีปัญหาผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และราคาตกต่ำ มาช่วยระบาย เช่น หอมแดง กระเทียม หรืออย่างล่าสุด ได้ช่วยนำมะนาวมาจำหน่ายเพื่อเร่งระบายผลผลิต หรืออาจจะเป็นการนำผลไม้ตามฤดูกาลมาขายก็ได้ รวมทั้งจะนำ “อมก๋อย โมเดล” มาใช้ในการเชื่อมโยงการซื้อขาย ระหว่างผู้ประกอบการ Farm Outlet กับเกษตรกร เพื่อนำผลผลิตเข้ามาจำหน่าย ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มความหลากหลายของสินค้าที่จำหน่ายใน Farm Outlet ให้เพิ่มมากขึ้น

“ต่อไป Farm Outlet ไม่เพียงแต่จำหน่ายสินค้าเกษตร เกษตรอินทรีย์ สินค้าชุมชนในพื้นที่ แต่จะมีสินค้าจากพื้นที่อื่น สินค้าชื่อดังจากที่อื่นมาขายด้วย เช่น กล้วยตาก จากกำแพงเพชร กาแฟแม่กำปอง จากเชียงใหม่ เครื่องเงินชื่อดังจากจังหวัดต่างๆ เป็นต้น และจะทำถึงขั้นมีตัวอย่างให้ดู ถ้าสนใจก็สามารถสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ก็ได้ ส่วน Farm Outlet ที่ใหญ่ๆ และตั้งอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยว ก็จะผลักดันให้เป็นจุดพักนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาพัก มาชม มาเลือกซื้อสินค้า” นายวัฒนศักย์กล่าว


ดึงสถาบันการเงินช่วยด้านเงินทุน

นายวัฒนศักย์กล่าวว่า กรมฯ ไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือด้านการตลาด ด้านการปรับโฉมร้านค้า แต่ยังจะช่วยด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การบริหารต้นทุน และช่วยเชื่อมโยงสถาบันการเงินให้เข้ามาช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง เพื่อให้ Farm Outlet มีเงินทุนในการขยายธุรกิจ รวมทั้งจะช่วยเชื่อมโยงด้านการตลาด โดยดึงห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงผู้ซื้อจากต่างประเทศ มาเจรจาธุรกิจกับ Farm Outlet เพื่อซื้อสินค้าด้วย ซึ่งที่ผ่านมา สินค้าออร์แกนิก ประสบความสำเร็จมาก จัดไปแล้ว 16 ครั้ง ทำยอดขายได้กว่า 200 ล้านบาท

ตั้งเป้าปรับโฉมใหม่ให้ได้ 10 แห่งในปี 66

สำหรับการพัฒนาและส่งเสริม Farm Outlet ในปี 2566 นายวัฒนศักย์กล่าวว่า กรมฯ มีแผนที่จะปรับปรุง ส่งเสริมภาพลักษณ์ เพื่อให้ Farm Outlet มีความทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการขาย มีการพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สินค้ามีความโดดเด่น ดึงดูดผู้บริโภค โดยตั้งเป้าหมายที่จะทำการปรับโฉมไว้จำนวน 10 แห่ง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการคัดเลือก โดยจะเน้นร้านที่เป็นจุดศูนย์กลางในแต่ละภาค และเป็นจุดที่สามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้

นอกจากนี้ จะเข้าไปส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยจะจัดอบรมให้ความรู้ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าของเกษตรกร เกษตรอินทรีย์ และสินค้าชุมชน ที่วางจำหน่ายใน Farm Outlet จะเข้าไปช่วยพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน เช่น อย. ฮาลาล การสนับสนุนการออกแบบตราสินค้าหรือโลโก้ การผลักดันให้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และการช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ขั้นต้น เพื่อให้สินค้าสวยงาม ดึงดูดผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน จะทำการเชื่อมโยงสินค้าใน Farm Outlet ด้วยกันเอง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือซื้อสินค้าไปจำหน่าย นำสินค้าจาก Farm Outlet ไปจัดแสดงและจำหน่ายในรูปแบบงานแสดงสินค้า เพื่อแนะนำให้ผู้บริโภครู้จัก เกิดการจดจำ และซื้อไปบริโภค รวมทั้งจะจัดกิจกรรมเชื่อมโยงสินค้าจาก Farm Outlet ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคด้วยช่องทางการจำหน่ายที่กว้างขึ้น โดยการนำสินค้าเข้าสู่แหล่งจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าชั้นนำ ในรูปแบบศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้า (Farm Outlet Market)

“กรมฯ ยังจะเข้าไปช่วยประชาสัมพันธ์ Farm Outlet เพื่อสร้างการรับรู้ จัดกิจกรรมช่วยโปรโมต เช่น ถุงผ้ารักษ์โลก ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ จัดทำคอนเทนต์นำเสนอเรื่องราว Farm Outlet และผลิตภัณฑ์ Farm Outlet เชิงสร้างสรรค์ด้วยทุนชุมชน ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้ และกระตุ้นให้คนเข้าไปเที่ยว ไปซื้อสินค้าใน Farm Outlet” นายวัฒนศักย์กล่าว

เชิญชวนคนไทยเข้ามาเที่ยวชม-อุดหนุน

นายวัฒนศักย์กล่าวอีกว่า กรมฯ ขอเชิญชวนให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังจังหวัดต่างๆ แวะไปเยี่ยมชม Farm Outlet ที่ปัจจุบันมีอยู่ 69 แห่ง ใน 40 จังหวัดทั่วประเทศ โดยบางที่ไม่ใช่แค่ร้านจำหน่ายสินค้า แต่ยังเป็นจุดที่ต้องแวะ และสามารถนัดหมายกันได้ เพราะบางร้านมีอาหารออร์แกนิก มีชา กาแฟ ชื่อดังของจังหวัดให้ทดลองชิม ทดลองบริโภค และยังเป็นศูนย์รวมของสินค้าเกษตร สินค้าชุมชนชื่อดังของแต่ละจังหวัด หรือบางแห่งมีสินค้าชื่อดังจาก Farm Outlet อื่นๆ สินค้าจากหมู่บ้านทำมาค้าขาย จากตลาดต้องชม มาจำหน่ายด้วย

“พูดได้ว่า ไปที่เดียว มีสินค้าเกษตร มีสินค้าชุมชนให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นของดี เด่น ดัง ในจังหวัด หรือของดี เด่น ดัง จากจังหวัดอื่นๆ รับรองเข้าไปแล้ว ได้ของกิน ของฝากครบ ถูกใจทั้งคนซื้อ ถูกใจทั้งผู้รับแน่นอน ที่สำคัญ ซื้อไปแล้ว อุดหนุนไปแล้ว ยังได้มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพราะสินค้าเหล่านี้ผลิตมาจากเกษตรกร ผลิตมาจากชุมชนจริงๆ ขอให้เข้าไปช่วยกันกระจายรายได้” นายวัฒนศักย์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น