xs
xsm
sm
md
lg

"สุพัฒนพงษ์" จ่องัดแผนฉุกเฉินป้องค่าไฟพุ่งสิ้นปี หยุดพึ่ง LNG หาเชื้อเพลิงอื่นแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอ กพช.เร็วๆ นี้เคาะแผนรับมือฉุกเฉินพลังงานโลกแพงช่วงไตรมาสสุดท้ายปี (ต.ค.-ธ.ค.) หวังเบรกวิกฤตค่าไฟแพง “สุพัฒนพงษ์” วางเป้าหยุดนำเข้า LNG ช่วง ต.ค.-พ.ย.เร่งหาเชื้อเพลิงอื่นๆทดแทนทั้งเพิ่มโรงไฟฟ้าใช้ดีเซล เลื่อนปลดระวาง รฟฟ.แม่เมาะ ซื้อก๊าซ JDA เพิ่ม จับตาระยะยาวไทย-กัมพูชารุกคืบพัฒนาปิโตรเลียมทับซ้อน ด้านแผนพีดีพีใหม่จ่อชง กบง.ต.ค.นี้เร่งเครื่องพลังงานหมุนเวียน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน
 แสดงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ทิศทางอนาคตพลังงานไทย" ในงานสัมมนา New Energy :แผนพลังงานชาติสู่ความยั่งยืน ว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ได้เตรียมจัดทำแผนเพื่อรับมือที่จะป้องกันผลกระทบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ไม่ให้เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) ที่จะเป็นช่วงฤดูหนาวของฝั่งยุโรปที่อาจส่งผลให้ราคาพลังงานแพงโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟโดยตั้งเป้าหมายว่าจะไม่มีการนำเข้าเลยหากเป็นไปได้ช่วง ต.ค.-พ.ย.นี้

“ที่ผ่านมาเราทำทุกทางที่พยายามไม่ให้ค่าไฟขึ้นแต่ต้องยอมรับว่าก๊าซอ่าวไทยไม่พอ จึงต้องนำเข้า LNG จากต่างประเทศซึ่งขณะนี้ราคาเฉลี่ยสูงถึง 41 เหรียญต่อล้านบีทียู เมื่อผลิตไฟก็จะมีต้นทุน 7-8 บาทต่อหน่วย ถ้าไม่ทำค่าไฟก็จะแพงขึ้น เราประชุมกันทุกสัปดาห์ที่จะหาพลังงานที่ถูกกว่ามาทดแทน LNG ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำแล้วในการใช้ดีเซลผลิตไฟให้มากสุด โรงใดที่พอใช้ได้ก็ขอให้ปรับใช้เพิ่ม เลื่อนปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะออกไป 2 แห่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็พยายามดูเพิ่ม ผมก็กำลังจะลงพื้นที่ไปให้กำลังใจ รวมไปถึงการเจรจาซื้อก๊าซจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียหรือ JDA เพิ่มขึ้น เป็นต้น” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

สำหรับความมั่นคงระยะยาวมองในเรื่องของการหาแหล่งก๊าซฯ ใหม่ๆ โดยเฉพาะการเจรจาพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่ขณะนี้มีการฟื้นคณะกรรมการร่วม 2 ประเทศในการเจรจาแล้วเพราะราคาตลาดโลกที่แพงทำให้เห็นตรงกันว่าควรจะมีการพัฒนาขึ้นเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งอดีตพื้นที่ JDA ใช้เวลาถึง 25 ปี แต่ครั้งนี้ตั้งเป้าหมายที่จะเร่งการผลิตให้ได้ภายใน 10 ปี ซึ่งกระทรวงพลังงานและกระทรวงการต่างประเทศกำลังทำงานอย่างใกล้ชิด


นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เร็วๆ นี้ กระทรวงฯ จะเสนอแผนฉุกเฉินด้านพลังงานเพื่อเตรียมการรับมือกับราคาพลังงานขาขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค. 65) ที่จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นโดยเฉพาะ LNG โดยการหันไปใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ ที่มีราคาต่ำกว่าทดแทนในระยะสั้นนี้ เช่น เลื่อนปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ โรงที่ 4 ขนาดกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ของ กฟผ.ออกไป และเจรจาซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากสปป.ลาวเพิ่มเติม เป็นต้น


“ราคาดีเซลวันนี้ลดลง แต่ LNG ยังไม่ดีขึ้นเพราะจากแต่ก่อน 3-4 เหรียญต่อล้านบีทียู เวลานี้ 41.72 ต่อล้านบีทียู นี่เพิ่งเริ่มฤดูหนาวของฝั่งตะวันตก แล้วจากนี้ก็มองว่าเป็นขาขึ้นเราจึงต้องเตรียมแผนไว้รับมือในช่วงสิ้นปี ซึ่งหากจะให้ค่าไฟไม่แพงขึ้น LNG ควรจะอยู่ที่ราว 25 เหรียญต่อล้านบีทียู” ปลัดพลังงานกล่าว


นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2022) ระหว่างปี 2565-2580 ซึ่งขณะนี้คืบหน้าแล้ว 80% คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ โดยแผนจะมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 50% เพื่อตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero Emission ค.ศ. 2065 Carbon neutrality ในปี ค.ศ. 2050


กำลังโหลดความคิดเห็น