xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.วิตก! น้ำท่วมพื้นที่ ศก.กระทบห่วงโซ่ผลิต แนะรัฐดูแลป้องซ้ำรอยปี 54

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.อ.ท.” เกาะติดน้ำท่วมใกล้ชิดโดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจหวั่นกระทบห่วงโซ่การผลิตฉุดรั้งการส่งออก แนะรัฐบริหารจัดการภาพรวมหลังสัญญาณโลกรวนเตือนแรง ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ทั่วโลก ด้านสถาบันน้ำฯ ส.อ.ท.ร่วมเครือข่ายทำงานภาครัฐใกล้ชิด เช็กปริมาณน้ำในเขื่อน แม่น้ำสายต่างๆ ระบบแก้มลิง ยังมีพื้นที่ว่างรับน้ำได้เพิ่มอีกมาก มั่นใจไม่ท่วมรุนแรงเหมือนปี 54

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีความกังวลต่อผลกระทบห่วงโซ่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่หากเกิดขึ้นรุนแรงจะกระทบต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้ ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการรับมือและป้องกันผลกระทบการเกิดอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งควรมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างมีระบบทั้งการป้องกันอุทกภัยเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำรอยปี 2554 และปัญหาภัยแล้ง

“ปีนี้ฝนค่อนข้างมีมากทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าอาจจะซ้ำรอยปี 2554 ซึ่งปัญหานี้น่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลกต้องเผชิญ เช่น ปากีสถานเผชิญกับฝนทิ้งระเบิดหรือ Rain Bomb ขณะที่จีนแม่น้ำสำคัญกลับแห้งเหือด คลื่นความร้อนในยุโรป เหล่านี้ส่งสัญญาณให้กังวลมาก โดย ส.อ.ท.เองได้มีการร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อป้องกันผลกระทบในภาพรวมอย่างต่อเนื่อง” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ ส.อ.ท.เป็นห่วงพื้นที่ในโซนภาคกลาง เช่น อยุธยา สระบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และโซนตะวันออกของ กทม. เช่น สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ที่แม้น้ำไม่ท่วมหนัก แต่ก็มีน้ำหลากในพื้นที่บ่อยครั้ง อาจจะกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณดังกล่าวได้ และหากท่วมรอบนิคมอุตสาหกรรมก็จะกระทบต่อภาคการขนส่งที่จะมีผลต่อการส่งออกได้เช่นกัน

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธาน ส.อ.ท.และประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า ปีนี้ยอมรับว่าปริมาณฝนค่อนข้างมากซึ่งจากการประสานงานและร่วมเป็นภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังพบว่าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ เฉลี่ยมีน้ำอยู่ราว 50% ซึ่งศักยภาพในการรับน้ำจะอยู่ระดับ 90% ดังนั้นยังมีส่วนที่จะรับมือได้เมื่อฝนมาเพิ่ม ขณะที่การระบายน้ำท้ายเขื่อนตั้งแต่เหนือลงใต้ในสายน้ำหลักเจ้าพระยาและสายรองภาพรวมมีปริมาณน้ำระดับปานกลาง ซึ่งจากการวิเคราะห์ของนักวิชาการต่างๆ ยืนยันว่าน้ำปีนี้จะไม่ท่วมรุนแรงเหมือนกับกรณีปี 2554

“ถ้าเทียบกับปี 54 ฝนปีนี้ยังตกก็น้อยกว่า น้ำในเขื่อน คลองก็ยังต่ำกว่า หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่าคงไม่ท่วมรุนแรง แต่ช่วงพื้นที่เสี่ยงสูงยังเป็นภาคกลาง แถบอยุธยาที่เป็นพื้นที่ต่ำ รัฐเองก็มีมาตรการดูแล บางพื้นที่ต่ำมากก็ต้องยอมรับว่าจะได้รับผลกระทบ แต่จากการทำงานร่วมกับรัฐก็ยังมีพื้นที่แก้มลิงรับน้ำได้อีก 1,500 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงฤดูฝนที่จะมีมามากๆ ระหว่าง ก.ย.-ต.ค.ที่จะเป็นแผนป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ” นายสมชายกล่าว


สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้กำหนด 13 มาตรการไว้ดูแลน้ำภาพรวมแล้ว เช่น มาตรการเกี่ยวกับการคาดการณ์ปริมาณน้ำ การขุดลอกคูคลอง ฯลฯ ซึ่งเอกชนได้เข้าไปร่วมมือกับภาครัฐใกล้ชิดที่จะร่วมกันติดตามข้อมูล โดยสถาบันน้ำฯ ยังเป็นเครือข่ายติดตามน้ำท่วมหรือวอร์รูมน้ำ เพื่อที่จะมีการสื่อสารให้กับผู้ประกอบการได้เตรียมพร้อมในการรับมืออีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น