xs
xsm
sm
md
lg

GIT นำ “เครื่องประดับเงิน” โครงการมาเหนือ เปิดตัวโชว์ในงานบางกอกเจมส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) นำ “เครื่องประดับเงิน” ในโครงการมาเหนือ ที่ผ่านการพัฒนาจำนวน 10 คอลเลกชัน มาจัดโชว์ในงานบางกอกเจมส์ ผลักดันเปิดตัวออกสู่ตลาดทั้งในประเทศ และโกอินเตอร์ไปต่างประเทศ

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า GIT ได้นำผลงานจากโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับเงินภาคเหนือ (มาเหนือ) ที่ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ นักออกแบบ ลงพื้นที่ไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 10 คอลเลกชัน มาจัดแสดงในช่วงการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 67 ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 ก.ย. 2565 ที่คูหา Gems Treasure บริเวณด้านหน้าทางเข้าชาลเลนเจอร์ฮอลล์ 2

“ได้นำผลงานการพัฒนาผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกและได้ผลิตออกมาเป็นคอลเลกชันตัวอย่าง มาจัดแสดงให้แก่ผู้ที่สนใจและรักเครื่องประดับได้เยี่ยมชม โดยเครื่องประดับเงินเหล่านี้เป็นสินค้าที่ยังคงอัตลักษณ์ท้องถิ่น คงภูมิปัญญาที่สืบทอดมา และมั่นใจว่าจะสามารถเปิดตัวออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ และเพิ่มรายได้ให้ผู้ผลิต และหากส่งออกได้ก็จะช่วยนำรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มขึ้น” นายสุเมธกล่าว

สำหรับโครงการมาเหนือ เป็นโครงการที่ GIT ได้ลงพื้นที่ไปช่วยพัฒนาเครื่องประดับเงินในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเลือกใช้วัสดุภายในท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้การออกแบบที่แสดงถึงภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อสร้างความโดดเด่นเฉพาะตัวให้แก่เครื่องประดับ และยังช่วยเชื่อมโยงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้เข้ากับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อันเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคด้วย

โดยผลงานทั้ง 10 คอลเลกชัน ได้แก่ 1. ความจริง หรือ The Truth เกิดจากแนวคิดที่ต้องการนำเสนอสัจธรรมของชีวิต คือ การเวียนว่ายตายเกิด สื่อผ่านดอกไม้ 3 ช่วงที่มีความสวยงามในแต่ละช่วง คือ ตูม บาน และโรยรา 2. แสงส่อง หรือ Shining Light เกิดจากการที่อยากพัฒนาเครื่องประดับเงินที่ทำอยู่ให้มีการผสมผสานกับงานคราฟต์ เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน จึงเลือกการสานไม้ไผ่ที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติ มีพื้นผิว และสีสันสวยงามเฉพาะตัว 3. เทือกเขา หรือ The Sierra เกิดจากการนำความสนใจงานสิ่งทอมาต่อยอดในการออกแบบ เลือกใช้วัสดุผ้าใยกัญชง ซึ่งขึ้นชื่อของเชียงใหม่มาผสมผสานเครื่องเงินชาวเขา ตกแต่งด้วยหินและอัญมณี 4. I-ti-pi-so มีแรงบันดาลใจจากบทสวดอิติปิโส ด้วยการนำตัวอักษรล้านนาที่เขียนว่า อิติปิโส มาทำเครื่องประดับ แหวน กำไล และจี้จากทองเหลือง 5. สรวย มาจากดอกไม้ ที่ปกติเวลาชาวเหนือเข้าวัดไปทำบุญจะนำดอกไม้ใส่กรวย (สรวย) ไปถวายพระ

6. แสงให้ชีวิต หรือ Light to Life มีแนวคิดแรกจากเรื่องจักรวาลและกาแลกซี แสงจึงเป็นเหมือนจุดกำเนิดของทุกชีวิต โดยออกแบบเป็นเครื่องประดับ 2 ชิ้น คือ แหวน และต่างหู 7. สร้อยคอเบญจวรรณ หรือ Necklace of Benjawan มีสร้อยคอ สร้อยข้อมือ และต่างหู เป็นงานทำมือที่มีความสวยงามเป็นธรรมชาติ พิเศษ และมีเพียงชิ้นเดียวในโลก 8. ความเจ็บปวดที่สวยงาม หรือ A Beautiful Pain ใช้เส้นเงินที่ดัดรูปทรงให้มีมิติเป็นผลงาน 3 ชิ้น คือ กำไล เข็มกลัด และแหวน ซึ่งทุกชิ้นพอนำมาต่อกันจะกลายเป็นรูปทรงผีเสื้อที่แสดงถึงความสวยงาม 9. แฝดสื่อรัก หรือ Love Twins เป็นเครื่องประดับสำหรับเจ้าของและสัตว์เลี้ยง โดยเริ่มทำเครื่องประดับของเจ้าของและแมวก่อน เป็นชิ้นงานปลอกคอและสร้อยข้อมือรวม 5 ชิ้น 10. สายใยแห่งรักษ์ หรือ Bond of Treat ออกแบบเป็นสร้อยคอ แหวน และทัดหู ใช้เส้นสายที่เปรียบเหมือนเถาวัลย์เมืองเหนือจากป่าเขาโอบล้อมพันเกี่ยวรอบหินสี ซึ่งเครื่องประดับทั้ง 3 ชิ้นสร้างสรรค์ขึ้นโดยคงความเป็นธรรมชาติของวัสดุ เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการที่จะทำร้ายสิ่งแวดล้อม












กำลังโหลดความคิดเห็น