SENA ชี้ค่าไฟแพงและเทรนด์พลังงานสะอาดหนุนตลาดโซลาร์รูฟท็อปขยายตัว เป็นโอกาสรุกลงทุนทั้งโซลาร์ติดหลังคาบ้านเรือนและโซลาร์ Private PPA เจาะกลุ่มภาคอุตสาหกรรมและห้างร้าน แย้มเข้าร่วม ERC Sandbox ระยะที่ 2 ทดลองนำแบตเตอรี่มาใช้เก็บไฟฟ้าส่วนเหลือจากบ้าน 10 หลังในหมู่บ้านเสนาพาร์ค วิลล์ แล้วขายไฟคืนช่วงกลางคืนให้ลูกบ้านราคาถูก
นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA เปิดเผยว่า ขณะนี้การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) ได้เติบโตเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และประชาชนหันมาใส่ใจใช้พลังงานสะอาด ลดภาวะโลกร้อนเพิ่มมากขึ้น นับเป็นส่วนสำคัญช่วยส่งเสริมการขายบ้านให้กับเสนาฯ ในฐานะ Developer รายแรกที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์ในโครงการเต็มรูปแบบ
โดยบริษัทพัฒนาโครงการหมู่บ้านจัดสรรนั้นจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทุกหลัง ขนาดกำลังการผลิตขึ้นอยู่กับขนาดของบ้าน หากเป็นบ้านเดี่ยวจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดกำลังการผลิต 3-4 กิโลวัตต์ต่อหลัง ทาวน์เฮาส์ กำลังการผลิตติดตั้ง 2 กิโลวัตต์ต่อหลัง สำหรับโครงการบ้านจัดสรรของ SENA ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบริษัทจะผลักดันให้ลูกบ้านเสนอขายไฟส่วนที่เหลือให้กับรัฐเพิ่มเติม ซึ่งภาครัฐได้มีการปรับราคารับซื้อจาก 1.68 บาทต่อหน่วย เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย ทำให้มีความคุ้มค่ามากขึ้น โดย SENA ได้เสนอขายไฟส่วนเกินให้กับลูกบ้านผ่านโครงการนี้ ตั้งแต่ปี 2564 ถึงขณะนี้ยื่นแล้ว 295 ราย คิดเป็น 891.67 กิโลวัตต์ และยังจะยื่นเพิ่มเติมอีกในปีนี้
ล่าสุดบริษัทได้เข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) เฟส 2 กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อพัฒนานวัตกรรมในธุรกิจพลังงานสะอาดร่วมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการรับซื้อไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยจะเริ่มนำร่องที่โครงการเสนาพาร์ค วิลล์ รามอินทรา-วงแหวน จำนวน 10 หลังต่อการติดตั้งแบตเตอรี่ขนาด 16 กิโลวัตต์ เพื่อเก็บไฟฟ้าส่วนเหลือจากบ้านทั้ง 10 หลังช่วงกลางวัน และขายไฟคืนในช่วงกลางคืนในราคาถูกราว 2 บาท/หน่วย
นางสาวเกษรากล่าวต่อไปว่า ส่วนความคืบหน้าการขยายการติดตั้ง Solar EPC และ Solar Warehouse ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เสนา สมาร์ทเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทในเครือ SENA ที่ให้บริการรับเหมาติดตั้งและวางระบบโซลาร์บนหลังคาเจาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม โรงพยาบาล โมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น โดยดำเนินการขายไฟฟ้าในรูปแบบ Private PPA (Private Power Purchase Agreement) ซึ่งในปัจจุบัน 3-4 โครงการ กำลังการผลิตรวมประมาณ 15-20 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างรอลงนามอีกหลายโครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 10 เมกะวัตต์
สำหรับการขยายลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มคงต้องรอความชัดเจนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2022 ว่าจะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มบรรจุในแผนเพิ่มเท่าไร โดยบริษัทพร้อมเข้าร่วมประมูล ส่วนแผนการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โครงการโซลาร์ฟาร์มที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนยังต่ำเมื่อเทียบกับธุรกิจหลัก จึงจะไม่เห็นการลงทุนธุรกิจดังกล่าวในช่วงนี้
ปัจจุบัน SENA มีกำลังการผลิตไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มที่สระบุรีและนครนายกรวม 46.5 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ SENA ยังได้ติดตั้ง Solar Rooftop ให้กับลูกบ้านทุกโครงการ ทั้งบ้านเดี่ยว และในพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดมิเนียมมาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีบ้านที่ติดตั้ง Solar Rooftop แล้วจำนวน 47 โครงการ แบ่งเป็นโครงการแนวสูง 22 โครงการ และโครงการแนวราบ 25 โครงการ หรือรวมกว่า 700 หลังคาเรือน คิดเป็นการผลิตไฟฟ้ากว่า 2,000 กิโลวัตต์
สำหรับผลดำเนินการของธุรกิจโซลาร์ ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้มีรายได้รวม 212.47 ล้านบาท แบ่งเป็นโซลาร์ฟาร์ม 198.59 ล้านบาท คิดเป็น 93.5% Solar EPC 9.04 ล้านบาท คิดเป็น 4.3% Solar Warehouse 3.28 ล้านบาท คิดเป็น 1.5% Solar Cell Rental 1.56 ล้านบาท คิดเป็น 0.7% โดยธุรกิจโซลาร์สามารถทำกำไรขั้นต้นได้ถึง 56% โดยรายได้จากธุรกิจโซลาร์คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 5% ของรายได้รวม