xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ผนึกพันธมิตรอังกฤษรุก Plant-based คาดปี 73 ธุรกิจใหม่-พลังงานอนาคตโกยกำไร 6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลอดช่วงระยะเวลา 1 ปีกว่าที่ ปตท.ได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต (Powering Life with Future Energy and Beyond) เพื่อสร้างความมั่นคงพลังงาน และสนับสนุนการดำเนินงานให้เติบโตไปสู่พลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ปตท.อัดเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก และเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป้าหมายเพื่อให้รวดเร็ว ให้ไวและไกลกว่าการที่จะทำเองเพียงลำพัง

ปตท.จัดสรรงบการลงทุนกว่า 30% ของงบลงทุนรวมเน้นในกลุ่ม Future Energy สู่เทรนด์พลังงานในอนาคตที่หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable) โดยวางเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 12,000 เมกะวัตต์ในปี ค.ศ. 2030 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2,000 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storag) หรือแบตเตอรี่ที่นับวันมีบทบาทสำคัญช่วยปิดจุดอ่อนของพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งรุกสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าตลอดซัปพลายเชน (EV value chain) ภายใต้บริษัท อรุณพลัส จำกัด และไฮโดรเจน พลังงานอนาคตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รวมทั้งกลุ่ม Beyond มุ่งเน้นในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ประกอบด้วย Life Science วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอาหารเพื่อสุขภาพ), Mobility and Lifestyle ผ่าน OR, High value business เป็นการต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมี, Logistics and Infrastructure การพัฒนาระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และ AI, Robotics, and Digitalization ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง รวมถึงการผลิตจักรกลอัจฉริยะ

ทั้งนี้ ปตท.ได้พาคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ณ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 22-28 สิงหาคม 2565 ตอกย้ำความมุ่งมั่น เดินหน้าในการทำธุรกิจใหม่สอดรับวิสัยทัศน์ที่ได้ประกาศไว้ โดย ปตท.มีสำนักงาน PTT Tradind หลายแห่งที่พื้นที่การค้าสำคัญของโลก หนึ่งในนั้นคือ สำนักงาน PTT International Trading London Ltd (PTTT LDN) ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์การค้าในภูมิภาคยุโรป สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีพนักงานประจำ สนง.จำนวน 6 คนรับผิดชอบจัดหาน้ำมันดิบจากแหล่งใหม่ๆ จากฝั่งตะวันตกไปยังโรงกลั่นไทยและตลาดเอเชีย และดำเนินธุรกิจการค้าน้ำมันและการจัดหาเรือขนส่งในตลาดยุโรป เมดิเตอร์เรเนียน และแอฟริกา รวมถึงการค้าอนุพันธ์เพื่อให้บริการด้านการบริหารความเสี่ยงราคาอีกด้วย

ขณะที่บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้น 100% เป็นหัวหอกสำคัญในการรุกธุรกิจใหม่ Life Sciences หรือวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ที่เน้นธุรกิจ Pharmaceutical, Medical Technology และ Nutrition ขยับการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จากการจับมือพันธมิตรอย่าง “โนฟ ฟู้ดส์” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF จัดตั้งบริษัทร่วมทุนคือ บริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด (NRPT) เพื่อรุกธุรกิจอาหารโปรตีนจากพืช (Plant- based) ซึ่ง NRPT ได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ หรือ Plant & Bean (UK) ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศไทย (Plant & Bean (Thailand) ) โดย NRPT ถือหุ้นสัดส่วนการลงทุน 51% และ Plant & Bean (UK) 49% คาดว่าเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการด้านอาหาร ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (อยุธยา) ในเดือนกันยายนนี้ และแล้วเสร็จในกลางปี 2566

ทั้งนี้ Plant & Bean (UK) มีประสบการณ์ที่คลุกคลีในแวดวงอาหารมานานนับสิบปี มีโรงงานผลิต Plant-based ใหญ่สุดที่ยุโรปตั้งอยู่ที่เมืองบอสตัน ซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรมแหล่งปลูกพืชผักป้อนภายในประเทศอังกฤษ โดยโรงงานนี้มีกำลังผลิตราว 10,000 ตัน/ปี และมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ตันในอนาคต สามาถผลิตโปรตีนจากพืชตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ มีการแพกสินค้าพร้อมส่งได้ทันที ซึ่งเดิมที่ตั้งโรงงาน Plant & Bean (UK) เคยเป็นโรงงานผลิตเนื้อมาก่อน ต่อมาปรับเปลี่ยนมาเป็นโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปรับปรุงรสชาติ เนื้อสัมผัส และรูปลักษณ์ให้เหมือนกับการรับประทานเนื้อสัตว์ ควบคู่ไปกับการพัฒนากระบวนการผลิต จึงเป็นโรงงานผลิต Plant-based ที่มีคุณภาพและราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้บริโภคเข้าถึงได้


Plant&Bean (UK)ืพร้อมลุยตลาดเมืองไทย

เจมส์ เฮิร์สท์ CEO บริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ Plant-based ของเราใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบเป็นหลักที่ได้รับการรับรองว่าปราศจาก GMO รวมทั้งมีการนำใช้ข้าวสาลี เห็ดและถั่วชนิดอื่นๆ มาเป็นวัตถุดิบ เพื่อให้เนื้อสัมผัสใกล้เคียงเนื้อจริงๆ โดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมีทั้งมีตบอล ไส้กรอก นักเก็ต ฯลฯ โดยรับจ้างผลิตแบรนด์สินค้าต่างๆ ควบคู่กับการพัฒนาการใช้วัตถุดิบชนิดอื่นๆ ที่หาได้ในอังกฤษมาใช้เป็นวัตถุดิบด้วย เพื่อตอบรับกระแสการบริโภค Plant-based กำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นสำหรับคนที่รักสุขภาพ และยังเป็นการช่วยลดโลกร้อน

เหตุผลที่ Plant & Bean (UK) ตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานการผลิตโปรตีนทางเลือกแห่งที่ 2 เดิมทีบริษัทมีแผนจะเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่สหรัฐอเมริกาและจีน เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้มีแหล่งวัตถุดิบ แต่ NRPT ได้เข้ามาติดต่อร่วมทุนตั้งโรงงานผลิต Plant-based แห่งใหม่ในประเทศไทย โดยมีเป้าทำตลาดป้อนในภูมิภาคเอเชียตั้งแต่ญี่ปุ่นถึงออสเตรเลีย จึงเป็นโอกาสดีในการขยายตลาดสู่เอเชีย

ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่พืชหลายชนิดที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต Plant-based ได้ไม่ว่าจะเป็นถั่วเขียวที่ให้เนื้อสัมผัสเหมือนไข่ ขนุนและเห็ดมีเนื้อสัมผัสเหมือนเนื้อวัวและเนื้อไก่ ตามลำดับ ขณะที่การแปรรูปเป็นอาหารจำเป็นต้องมีทีม R&D เพื่อให้ได้อาหารที่รสชาติถูกปากผู้บริโภค โดยโรงงานแห่งใหม่ในไทย ทาง Plant & Bean (UK) จะเป็นผู้ออกแบบโรงงานวางระบบและนำเทคโนโลยีการผลิต Plant-based จากอังกฤษมาใช้ในไทย เฟสแรกมีขนาดกำลังผลิต 3,000 ตันต่อปี ใช้เงินลงทุนราว 500 ล้านบาท โดยมีแผนผลิตเพื่อส่งออกในภูมิภาคนี้ราว 40-50% ของกำลังการผลิต คาดว่ารองรับการบริโภคของตลาดราว 3 ปีก็ต้องขยายกำลังผลิตเฟส 2 เพิ่มเป็น 15,000 ตันต่อปี


นอกจากนี้ NRPT ได้จับมือกับสตาร์ทอัพแบรนด์อาหาร Plant-Based 100% อย่าง "Wicked Kitchen" ซึ่งเป็นแบรนด์ที่รังสรรค์อาหาร Plant-based แบรนด์แรกๆ โดย 2 เชฟมืออาชีพที่เป็นผู้นำในวงการอาหารโปรตีนจากพืชเป็นผู้ก่อตั้ง ครีเอตเมนูอาหารที่มีรสชาติอร่อยและหลากหลายภายใต้คอนเซ็ปต์รับประทานอาหาร Plant-based ได้ทุกมื้อ ทำให้ผู้บริโภคต้องกลับมารับประทานใหม่อีกครั้งถึง 40%

ปัจจุบัน Wicked Kitchen มีสินค้าทั้งอาหารคาวและหวาน ไอศกรีม รวมมากกว่า 200 รายการ (SKU) ขายสินค้าผ่านช่องทางร้าน Tesco ที่มีถึง 3 พันสาขา ทำให้ Wicked Kitchen มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในอังกฤษ ดังนั้นทาง NRPT ได้เจรจากับ Wicked Kitchen เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในแถบเอเชีย และเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบรนด์ Wicked Kitchen จำนวน 17 รายการมีทั้งกลุ่มอาหารแช่แข็ง ของหวานและไอศกรีมที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 ผ่านช่องทางท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตรวม 50 สาขาในเครือเซ็นทรัล จากนั้นจะขยายไปยังตลาดสิงคโปร์ และญี่ปุ่น หากได้รับการตอบรับที่ดีก็มีแผนผลิตอาหารแบรนด์ Wicked Kitchen ในไทยโดยใช้ฐานการผลิตจากโรงงาน Plant&Bean ที่อยุธยา


อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) กล่าวว่ากระแสการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ทำให้มูลค่าธุรกิจโปรตีนจากพืชในไทยเติบโตขึ้น ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองก็มีแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายในการผลิติPlant-based ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง ถั่วเขียวและเห็ด ช่วยสร้างมูลค่าราคาสินค้าเกษตรของไทยให้สูงขึ้น โดย ปตท.จะให้ความรู้ผ่านสหกรณ์และชุมชนเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ และซื้อในราคาที่เหมาะสม เหมือนกับการส่งเสริมปลูกและรับซื้อกาแฟของคาเฟ่ อเมซอนในเครือบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR)

ปัจจุบันราคาสินค้า Plant-based ในไทยสูงกว่าเนื้อจริงราว 30-40% แต่เชื่อว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าราคาผลิตภัณฑ์ Plant-based จะขยับลดลงมาใกล้เคียงหรือต่ำกว่าเนื้อจริงเหมือนกับที่เกิดขึ้นในยุโรป ยิ่งภาวะอัตราเฟ้อสูงทำให้ต้นทุนเนื้อสัตว์สูงขึ้น 40-50% แต่สินค้า Plant-based เพิ่มขึ้นเพียง 10-20% เท่านั้น หากสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชมีรสชาติอร่อยถูกปาก ตลาดก็ยิ่งเติบโตขึ้น โดยปี 2564 มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ Plant-based ในไทยอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท โตขึ้น 15% ต่อปี กล่าวได้ว่าการรุกตลาดในช่วงนี้เหมาะสม ทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำการส่งออกอาหารโปรตีนจากพืชในภูมิภาคเอเชีย


จีบ “แอซทีค” ตั้ง รง.ยารักษามะเร็งในไทย

บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า อินโนบิก (เอเซีย) ก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคมปี 2563 ตลอดช่วงเวลา 1 ปีกว่า อินโนบิกได้ร่วมลงทุนกับพันธมิตรทั้งในไทยและต่างประเทศกว่าสิบบริษัทใช้เงินลงทุนไปแล้วราว 13,000 ล้านบาท โดยโครงการที่ใช้เงินมากที่สุดหนีไม่พ้นการเข้าถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 37% ในบริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Lotus Pharmaceutical) บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาสามัญชั้นนำที่ได้มาตรฐานระดับสากล และถือหุ้นในบริษัท อดัลโว จำกัด (Adalvo) 60% ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการซื้อขายยาและสิทธิบัตรที่มีเครือข่ายทั่วโลก

การตัดสินใจเข้าไปถือหุ้นบริษัทยาชั้นนำระดับโลกอย่างโลตัส ฟาร์มาซูติคอล จะทำให้อินโนบิกขยับก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับโลกด้วยเช่นกัน และมีโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติม จากเดิมที่บริษัทชั้นนำไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าบริษัทพลังงานอย่าง ปตท. จะจริงจังการลงทุนในธุรกิจยามากน้อยแค่ไหน

เมื่อเร็วๆ นี้เราได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตยารักษามะเร็งของพันธมิตร “แอซทีค” (Aztiq HK.Limited: AZTIQ) ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนธุรกิจด้านสุขภาพในประเทศไอซ์แลนด์ เพื่อมองโอกาสดึงแอซทีคมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็งหรือกลุ่มยาโรคไม่ติดต่อในไทยเพื่อทำตลาดในภูมิภาคนี้ หากสำเร็จอินโนบิกจะใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ ซึ่งปัจจุบัน ปตท.ได้จับมือกับองค์การเภสัชฯ (อภ.) ตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็งในไทย

ธุรกิจยาที่อินโนบิก โฟกัสอยู่ในกลุ่มยาสำหรับโรคที่ไม่ติดต่อ เช่น ยารักษาโรคหัวใจ มะเร็ง และกลุ่มยาเพื่อรักษากลุ่มโรค NCDs ฯลฯ ซึ่งไทยต้องนำเข้าต่างประเทศ การมีฐานการผลิตในไทยจะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นในราคาที่เหมาะสม


ปี 73 ปตท.คาดกำไรแตะ 2 แสนล้าน

ด้าน นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี ค.ศ. 2030 หรือปี 2573 ปตท.ตั้งเป้ากำไรจากกลุ่ม Future Energy และธุรกิจใหม่ (Beyond) อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท หรือราว 30% ของกำไรสุทธิรวม 200,000 ล้านบาท โดยหลักมาจากธุรกิจยา ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รวมทั้ง HVB การสร้างมูลค่าเพิ่มปิโตรเคมี

ในปี 2565 ปตท.คาดว่ามีกำไรจากธุรกิจใหม่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 3-4% ของกำไรสุทธิรวม แต่ในปี 2569 กำไรจากธุรกิจใหม่จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 16-17%

ทั้งนี้ ปตท.เตรียมเปิดสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแห่งแรกของไทยที่พัทยา จังหวัดชลบุรี ในปลายปี 2565 โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างปตท.กับกลุ่มพันธมิตร เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) เพื่อเก็บข้อมูลก่อนการตัดสินใจขยายสถานีเติมไฮโดรเจนในอนาคต โดยจะทดลองกับรถ Mirai ของโตโยต้า และกลุ่มรถขนส่งในเครือ ปตท.

ขณะนี้เทรนด์พลังงานทางเลือกในอนาคตอย่างพลังงานไฮโดรเจนกำลังมาแรง ยิ่งเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานสูงขึ้น เหมือนเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาเพื่อให้ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนต่ำลงมาแข่งขันกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น