xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจหนี้ครัวเรือนไทยยอดทะลุ 5 แสน ใช้จ่ายอุปโภคบริโภค บัตรเครดิต บ้าน รถ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลสำรวจหนี้ครัวเรือนไทยปี 65 พบมีหนี้ทะลุ 5 แสนบาท เหตุรายได้ไม่พอรายจ่าย ส่วนใหญ่เป็นหนี้อุปโภคบริโภค บัตรเครดิต บ้าน รถ “ธนวรรธน์” เผยหนี้ครัวเรือนมีสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพี มูลค่า 14.97 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 16 ปี แนะต้องผลักดันการลงทุน ทั้งรัฐ เอกชน เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ช่วยชุมชนมีรายได้เพิ่ม

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2565 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,350 คน พบว่ามีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาท แยกเป็นหนี้ในระบบ 78.9% และหนี้นอกระบบ 21.1% โดยมีภาระที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 12,800 บาท ส่วนสาเหตุที่ทำให้เป็นหนี้เพิ่มมาจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รองลงมาคือ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย และมีการผ่อนสินค้ามากเกินไป โดยกลุ่มตัวอย่าง 65.9% ตอบว่าเคยผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ 34.1% ตอบว่าไม่เคยผิดนัดชำระหนี้

สำหรับภาวะหนี้สินครัวเรือน พบว่ากลุ่มตัวอย่างถึง 99.6% ตอบว่ามีหนี้สิน โดยกลุ่มตัวอย่างเพียง 0.4% ที่ตอบว่าไม่มีหนี้สิน และประเภทหนี้สิน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล (หนี้อุปโภคบริโภค) รองลงมา เป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้ยานพาหนะ หนี้บ้าน

ส่วนการผิดนัดชำระหนี้ กลุ่มตัวอย่าง 65.9% ตอบว่าเคยผิดนัดชำระหนี้ และ 34.1% ตอบว่าไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ โดยสาเหตุที่ทำให้ต้องผิดนัดชำระหนี้ มาจากรายได้ รายรับที่ลดลง เศรษฐกิจไม่ดี ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ ปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจและครัวเรือน และการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นปี 2565 คาดว่าจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 89.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือน 14.97 ล้านล้านบาท ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ที่ ม.หอการค้าไทยได้เคยทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2550 โดยสัดส่วนดังกล่าวในทางเศรษฐศาสตร์ยังไม่น่ากังวล เพราะเป็นหนี้ในระบบถึง 79% แสดงว่าสินเชื่อในระบบยังทำงานได้ดี และหนี้ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีทรัพย์สินค้ำประกัน เช่น บ้าน รถยนต์

โดยแนวทางการดึงให้หนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ในระดับ 80% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 6% โดยรัฐบาลต้องผลักดันการลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชน กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและต่างจังหวัด เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 80% ต่อจีดีพี นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 และขยับขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 90.9% เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัจจุบันไตรมาส 1 ปี 2565 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 89.2% ต่อจีดีพี ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ซึ่งหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 90.0% ต่อจีดีพี


กำลังโหลดความคิดเห็น