ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเผยผลสำรวจการใช้จ่ายวันแม่ปีนี้คาดเงินสะพัดกว่า 1.08 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% สูงสุดในรอบ 10 ปี หลังคนคลายกังวลโควิด-19 มองเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้กล้าใช้จ่ายและท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,288 ราย ระหว่างวันที่ 28 ก.ค.-3 ส.ค. 2565 ในหัวข้อทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนเกี่ยวกับวันแม่ ปี 2565 ว่า คาดการณ์การใช้จ่ายวันแม่ปีนี้จะมีเงินสะพัดกว่า 10,883.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2555 ที่เพิ่มขึ้น 5.7% โดยเงินจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นการใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ มูลค่า 10,012.65 ล้านบาท และการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว 870.67 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเริ่มคลายกังวลกับสถานการณ์โควิด-19 และกลับมาใช้จ่ายในช่วงเทศกาลมากขึ้น ท่องเที่ยวมากขึ้น และยังมองว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น
สำหรับกิจกรรมที่จะทำในวันแม่ ส่วนใหญ่จะพาแม่ไปรับประทานข้าวนอกบ้าน ใช้เงินเฉลี่ย 1,880 บาท ไปทำบุญ เฉลี่ยประมาณ 1,541 บาท และพาไปเที่ยวต่างจังหวัดทั้งแบบไม่ค้างคืน ประมาณ 4,900 บาท ส่วนแบบค้างคืน ใช้จ่ายมากกว่า 10,000 บาท และยังเตรียมซื้อของขวัญ ทั้งทองคำและเงินสด รวมไปถึงนำพวงมาลัย ดอกไม้ และเครื่องดื่มบำรุงร่างกายเพื่อไหว้แม่
ส่วนผลสำรวจที่ระบุว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เห็นได้จากเรื่องงบประมาณการใช้จ่ายในช่วงเทศกาล ที่ประชาชนกว่า 40.2% คาดว่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะเริ่มมีรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลดีจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มที่ตอบว่ามีการใช้จ่ายลดลง 36.5% เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ค่าครองชีพสูง รายจ่ายเยอะ และรายได้ไม่เด่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบอ่อนๆ ไม่ได้ฟื้นตัวแบบโดดเด่นมาก
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังสอดคล้องกับภาครัฐที่มองว่ายอดขายรถยนต์ ยอดขายบ้าน ปรับตัวดีขึ้น การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น และตรงกับที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้คาดการณ์ว่าการส่งออกในปี 2565 จะขยายตัว 5-8% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้น เทียบได้จากยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามาจากต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้วกว่า 3 ล้านคน และตลอดทั้งปี 2565 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทย 8-10 ล้านคน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าจะปรับขึ้นกี่ครั้ง แต่คาดว่าในเดือน ส.ค. 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% แน่นอนเพื่อดึงเงินเฟ้อ ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มุมมองของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดว่าจะโตได้ 3-3.5% ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เชื่อว่าเอกชนเห็นด้วยในการปรับขึ้นในบางภาคธุรกิจ คาดว่าจะปรับขึ้นประมาณ 7-8% ซึ่งสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีเม็ดเงินเข้าระบบประมาณ 1,500-2,400 ล้านบาท หรือปีละกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.1-0.2%