ปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการส่งออกและการค้าภายในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของจีดีพีประเทศ มีแรงงานเกี่ยวข้องประมาณ 1 ล้านคน ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ และมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมากอุตสาหกรรมหนึ่ง
แต่ภารกิจในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน โดยวันนี้จะพาไปรู้จักกับหน่วยงานที่สำคัญหน่วยงานหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ ซึ่งก็คือ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ที่เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์
ปัจจุบันหน่วยงานนี้ขับเคลื่อนโดยนายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT คนล่าสุด เราไปดูกันว่าหน่วยงานนี้ทำงานอะไร มีภารกิจอะไร ที่มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น และสร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มมากขึ้น
อุตสาหกรรมนี้สำคัญอย่างไร
นายสุเมธเล่าให้ฟังว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญต่อประเทศ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จากการส่งออกติด 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมที่ทำรายได้สูงสุดให้แก่ประเทศมานานเป็น 10 ปี ทำรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ทั้งการค้าในประเทศและการส่งออก มีแรงงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเป็นล้านคน เกี่ยวข้องตั้งแต่คนคัดพลอย ช่างเจียระไนอัญมณี ช่างฝีมือผลิตเครื่องประดับ คนขายอัญมณีและเครื่องประดับ ยังไม่รวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งการผลิตบรรจุภัณฑ์ ประกันภัย โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว
“จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมนี้สำคัญมาก สำคัญทั้งการจ้างงานในประเทศ การค้าขายในประเทศ การส่งออกทำรายได้เข้าประเทศ และมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศ เพราะปีๆ หนึ่งมีรายได้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ถือว่าเยอะมาก และเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จนรัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก เพราะเห็นว่าอุตสาหกรรมนี้สำคัญจริงๆ” นายสุเมธกล่าว
มีแผนขับเคลื่อนอย่างไร
นายสุเมธกล่าวว่า แผนการสร้างความเข้มแข็งใหอุตสาหกรรมจะมีทั้งแผนการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แผนการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็ก และรายใหญ่ เพื่อสร้างมาตรฐานใหอุตสาหกรรม และการสร้างความเชื่อมั่นใหแก่ผู้บริโภคที่ซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งแผนทั้งหมดนี้จะดำเนินการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก ซึ่งไทยมีขีดความสามารถเป็นได้แน่ๆ
โดยในการพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา GIT ได้ลงพื้นที่เป็นรายภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ อีสาน ใต้ ตะวันออก เข้าไปฝึกอบรม พัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น เริ่มจากคัดเข้ามาก่อน แล้วนำมาฝึกอบรม นำมาพัฒนา ทำไปแล้วเป็นพันคน แต่สุดท้ายคัดเหลือร้อยกว่าคน แล้วนำมาพัฒนาเชิงลึก พัฒนาแบบเข้มข้น จนวันนี้มีผู้ประกอบการรายย่อยท้องถิ่นผลิตสินค้าได้หลากหลาย และหลารายโกอินเตอร์ส่งออกไปต่างประเทศได้แล้ว
ยกตัวอย่างเช่น ร้าน Jewel Impress ผู้ผลิตเครื่องประดับเงินและทองตกแต่งอัญมณี มีลูกค้าจากยุโรปและเอเชีย ร้าน Heritage ผลิตเครื่องประดับจากผ้า มีลูกค้าหลักจากญี่ปุ่น และแบรนด์ Peranakan Jewelry ผู้ผลิตเครื่องประดับเทียม ไข่มุก มีลูกค้าหลักจากสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือล่าสุด Amorn Macrame Art ผู้ประกอบการจากสุรินทร์ที่ได้เข้าร่วมโครงการกับ GIT ติดต่อกัน 2 ปี ได้พัฒนาต่อยอดจากการถักเชือกเทียนเป็นการถักเส้นไหมเป็นเครื่องประดับ ซึ่งมีสีสันสวยงามโดดเด่น และเริ่มมีคนรับสินค้าไปขายในหลายประเทศแล้ว
ปีนี้ให้ความสำคัญต่อเครื่องประดับเงิน
ทั้งนี้ เนื่องจากเครื่องประดับเงินเป็นสินค้าดาวเด่นของไทยในตลาดโลก และในจังหวัดภาคเหนือมีผู้ผลิตเครื่องประดับเงินที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในและต่างประเทศอยู่แล้ว ในปีนี้ GIT จึงได้เข้าไปช่วยต่อยอดผู้ประกอบการเครื่องเงินภาคเหนือ โดยการอบรมถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของ GIT ทั้งในเรื่องของแนวคิดและเทคนิคในการพัฒนาออกแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้าในตลาดโลก ส่งเสริมให้สร้างแบรนด์ของตัวเอง และสร้างช่องทางใหม่ให้กลุ่มผู้ประกอบการ โดยมีการขายผ่านช่องทางออนไลน์ และแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Pinkoi และ Amazon เป็นต้น
สร้างมาตรฐานให้อุตสาหกรรม
นายสุเมธกล่าวว่า สำหรับการสร้างมาตรฐานให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย GIT ได้จัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับและโลหะมีค่า หรือ GIT Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับประเทศ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล โดย GIT Standard ประกอบด้วย มาตรฐานด้านอัญมณีและเครื่องประดับ มาตรฐานด้านโลหะมีค่า และมาตรฐานด้านบุคลากรของห้องปฏิบัติการ
“ขณะนี้ GIT อยู่ระหว่างการผลักดันให้มีการนำ GIT Standard ไปใช้กับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ซึ่งหากสามารถผลักดันให้การตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีมาตรฐานเดียวกัน ก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นใหอุตสาหกรรมได้เพิ่มมากขึ้น” นายสุเมธกล่าว
สร้างความเชื่อมั่นร้านค้า-ผู้บริโภค
นอกเหนือจากการสร้างมาตรฐานให้อุตสาหกรรมแล้ว GIT ยังได้เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ โดยได้ผลักดันโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ หรือ Buy With Confidence - BWC ซึ่งเป็นโครงการที่ GIT ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใหแก่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ร้านค้าที่ขายอัญมณีและเครื่องประดับ และผู้บริโภคที่จะซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง
นายสุเมธบอกว่า ที่ผ่านมาการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งการซื้อที่หน้าร้าน หรือซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ มักจะมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น ไม่มีความมั่นใจว่าซื้อสินค้าร้านนี้แล้วจะได้ของดี ของมีมาตรฐาน จึงเป็นที่มาของโครงการ BWC ที่ GIT จะเข้าไปการันตีให้กับร้านค้าว่า เป็นร้านที่เชื่อถือได้ ขายสินค้ามาตรฐาน ผู้บริโภคที่มาซื้อสินค้าจากร้านที่ได้รับตรา BWC ก็มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ซื้อไปเป็นของดี มีคุณภาพ และที่สำคัญ ซื้อแล้วมีใบรับรองรับประกันให้ด้วย ใบรับรองนี้ก็ตรวจสอบได้ รู้เลยว่าสินค้ามีที่มาที่ไปอย่างไร
โครงการนี้ได้ดำเนินการมาหลายปีแล้ว ปัจจุบันมีผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับชั้นนำของประเทศ และผู้ประกอบการรายย่อย รายเล็ก รายกลาง เข้าร่วมแล้วกว่า 500 ราย และมีการใช้ใบรับรองจำนวนปีละกว่า 10,000 ใบ และคาดว่าจะมีจำนวนผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต
แผนต่อไปช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่าย
นายสุเมธกล่าวว่า GIT ได้เข้าไปช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายใหแก่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ BWC โดยสิ่งที่ทำมาตลอด คือ การช่วยประชาสัมพันธ์ร้านค้าผ่านเว็บไซต์ของ GIT ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่ามีร้านอะไรบ้าง เวลาจะเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ ก็ให้เลือกร้านที่ได้รับการรับรอง และยังได้ร่วมมือกับบริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือสหพัฒน์ นำสินค้าจากร้านที่ได้ตรา BWC ไปจำหน่ายผ่าน Shop Channel ซึ่งเป็นรายการที่นำเสนอรายการผ่านรูปแบบความบันเทิง 24 ชั่วโมง และล่าสุดกำลังร่วมมือกับ e-bay แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก BWC นำสินค้าไปจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม เปิดตัวสินค้าออกสู่ตลาดโลกด้วย
ระวังมิจฉาชีพหลอกขายสินค้า
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการสร้างความเชื่อมั่นใหแก่อุตสาหกรรม ทั้งตัวผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค แต่ก็มีพวกมิจฉาชีพ ที่อาศัยสิ่งที่ GIT กำลังดำเนินการ นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ โดยการปลอมแปลง ทั้งการปลอมว่าเป็นร้านค้าที่ได้รับตรา BWC หรือปลอมใบรับรองอัญมณีและเครื่องประดับที่ออกโดย GIT แล้วนำไปใช้แอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ
“ตอนนี้ที่น่ากังวล คือ มีการหลอกลวงขายทองคำปลอม หลอกขายอัญมณีและเครื่องประดับปลอม โดยทองบอกว่าเป็นเศษทองคำ แล้วนำมาหลอมใหม่ จึงขายได้ราคาถูก ขายกันแค่บาทละ 5 พันบาท ราคาจริงเกือบ 3 หมื่นบาท หรือบางรายขายทองคำจริง แต่ปลอมบางข้อ ที่น่าเจ็บใจ แอบอ้างว่าเป็นร้านค้าที่ได้รับตรา BWC หรือบางรายปลอมใบรับรองของ GIT ว่าอัญมณีชิ้นนี้ เครื่องประดับชิ้นนี้ ได้รับใบรับรองจาก GIT เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่เอาเข้าจริง ปลอมมาทั้งนั้น ขอให้ผู้บริโภคมีการตรวจสอบก่อน โดยเฉพาะพวกที่ขายออนไลน์ แล้วตรวจสอบด้วยว่าเป็นร้านที่ได้ตรา BWC จริงหรือไม่ และเป็นใบรับรองของ GIT จริงหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาการถูกหลอกลวง” นายสุเมธกล่าว
ทั้งนี้ การตรวจสอบร้านค้าที่ได้ตรา BWC สามารถตรวจสอบได้ผ่านเว็บไซต์ของ GIT ที่ www.git.or.th ส่วนใบรับรองตรวจสอบได้ผ่านการสแกน QR Code ถ้าเป็นของจริง จะขึ้นโชว์หมดว่าสินค้าชิ้นนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ถ้าปลอม จะไม่เจออะไร หรือกรณีที่ถูกหลอกลวง สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1166 ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และ 1569 กรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ GIT ได้บูรณาการความร่วมมือเอาไว้
ปรับโฉมการทำงาน GIT ให้เข้มขึ้น
นายสุเมธกล่าวว่า ที่ผ่านมา GIT ได้ทำงานอย่างเข้มข้น และเข้มแข็งในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย แต่มองว่า GIT ยังสามารถพัฒนาได้มากกว่านี้ และจะเป็นองค์กรที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้มากกว่านี้ จึงได้ทำการปรับภาพลักษณ์ใหม่ของ GIT เริ่มด้วยการปรับโลโก้ใหม่ สะท้อนภาพลักษณ์ที่ทันสมัย จดจำง่าย และเป็นสากล โดยสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด (Diamond Shape) ที่สะท้อนถึงการเจียระไน ความเฉียบคม และความเป็นไทย จัดเรียงในรูปแบบแนวคลื่น ที่สื่อให้เห็นถึงความพร้อมที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างไม่หยุดยั้ง
หลังจากปรับโลโก้ได้ปรับภารกิจให้เข้มข้นขึ้นด้วย มีภารกิจที่จะขับเคลื่อน 6 ประการ ได้แก่ 1. การเป็นผู้วิเคราะห์ ตรวจสอบ และกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 2. การเป็นผู้นำด้านมาตรฐานการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับ 3. การเป็นผู้วิจัยและพัฒนาระบบฐานข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย 4. การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในทุกภาคส่วน 5. การเป็นสถาบันหลักของชาติ และการมีห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล 6. การเป็นศูนย์กลางในการร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
พัฒนางานบริการเชิงรุกเชิงลึก
ไม่เพียงแต่ปรับโฉมหน้า GIT นายสุเมธกล่าวว่า ยังได้พัฒนางานบริการต่างๆ ของ GIT ทั้งเชิงรุก และเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบนโยบายการทำงาน ให้เน้นการทำงานเชิงรุก และเชิงลึกมากขึ้น โดยสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เช่น การพัฒนา AI เพื่อระบุแหล่งกำเนิดสำหรับพลอยคอรันดัมและอัญมณีอื่นๆ ที่สำคัญ เพื่อสามารถให้บริการตรวจสอบที่รวดเร็วและแม่นยำ การพัฒนามาตรฐานสีสำหรับทับทิม ไพลิน และพัดพารัชชา การจัดทำมาตรฐานสีของทับทิมโมซัมบิก
นอกจากนี้ จะพัฒนาระบบฐานข้อมูลวิชาการและศูนย์เรียนรู้ด้วยตนเองที่เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจร มีทรัพยากรสารสนเทศในรูปแบบสิ่งพิมพ์ และสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ ที่พร้อมที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย การเปิดศูนย์ฝึกอบรมที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมเนื้อหาครอบคลุมทุกมิติในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์
ขณะเดียวกัน พัฒนาแอปพลิเคชัน Carat แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาทุกเรื่องเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับให้เข้มข้นมากขึ้น โดยจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญให้บริการ เช่น เทคนิคการตรวจวิเคราะห์อัญมณีโลหะมีค่า กระบวนการผลิต และระบบมาตรฐานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
จากภารกิจที่ได้ดำเนินการมาทั้งหมด นายสุเมธสรุปสั้นๆ ว่า จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับฐานราก ไปจนถึงการค้าในประเทศ การส่งออกต่างประเทศ ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ เพิ่มรายได้เข้าประเทศ เพิ่มจีดีพีใหแก่ประเทศ และที่สำคัญ จะเป็นแรงผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกได้อย่างแน่นอน